This printed article is located at https://investor-th.thaiunion.com/business_ethics.html

Business Ethics

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ("บริษัท") มีความตั้งใจในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ดังนั้น นอกเหนือจากความมุ่งมั่นและความเอาใจใส่ในการดำเนินงานแล้ว การยึดมั่นในจริยธรรม การมีคุณธรรม ความโปร่งใส และความซื่อสัตย์สุจริต จะนำพาให้บริษัทฯ ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน และเพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทและการปฏิบัติงานของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายและจริยธรรมดังกล่าว บริษัทจึงได้จัดทำคู่มือจริยธรรมธุรกิจ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม รวมถึงเป็นแนวทางให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานยึดถือปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

หลักการในการดำเนินธุรกิจ
  1. บริษัทจะดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงประสิทธิภาพ ประสิทธิผล มีจริยธรรม คุณธรรมและความโปร่งใส โดยยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย และสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมแก่ผู้ลงทุน รวมทั้งสร้างความก้าวหน้าและมีการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
  2. บริษัทจะปรับปรุงการบริหารจัดการกระบวนการ และการปฏิบัติการต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น
  3. บริษัทจะบริหารงานด้วยความซื่อตรง และปฏิบัติตามกฎหมาย มาตรฐาน และข้อปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ การบันทึกบัญชีอย่างถูกต้องและการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินอย่างสม่ำเสมอ
  4. บริษัทมีความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเข้าไปมีส่วนร่วมตามสถานภาพของบริษัท
ความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น
  1. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตลอดจนตัดสินใจในดำเนินการใดๆ ด้วยจิตอันบริสุทธิ์ (Good Faith) และเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นทั้งรายใหญ่และรายย่อย เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นโดยรวม
  2. ไม่บริหารองค์กรอย่างขาดความระมัดระวัง หรือขาดความยั้งคิด
  3. ปฏิบัติหน้าที่โดยการประยุกต์ความรู้ และทักษะการบริหารจัดการอย่างเต็มความสามารถในทุกกรณี
  4. จัดการดูแลมิให้ทรัพย์สินใดๆ ของบริษัทเสื่อมค่าผิดปกติหรือสูญหายโดยมิชอบ
  5. รายงานสถานะและผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างถูกต้องครบถ้วนตามความจริงต่อคณะกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัท
  6. ไม่แสวงหาประโยชน์ให้ตนเองและผู้เกี่ยวข้องโดยใช้ข้อมูลใดๆ ขององค์กรซึ่งยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะชน
  7. แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทุกรายทราบอย่างเท่าเทียมกันถึงแนวโน้ม (Prospects) ในอนาคตของบริษัททั้งด้านบวกและด้านลบ ซึ่งจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ และมีข้อมูลสนับสนุนอย่างเพียงพอ
  8. ไม่เปิดเผยข้อมูลลับของบริษัทต่อบุคคลภายนอก โดยเฉพาะคู่แข่ง
  9. ไม่ดำเนินการใดๆ ในลักษณะซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัทโดยมิได้แจ้งให้บริษัททราบ
การปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ
  1. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานจะต้องปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของท้องถิ่นที่ตั้ง รวมถึงประเทศที่บริษัทฯ เข้าไปดำเนินธุรกิจ
  2. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
  3. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของบริษัท
  4. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานจะต้องไม่กระทำการใด หรือมีส่วนรู้เห็น ช่วยเหลือ สนับสนุน ร่วมมือ เพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับ
  5. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานจะต้องให้ความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแล และรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับ อย่างเคร่งครัด
ความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินของบริษัท
  1. ผู้บริหารและพนักงานต้องใช้ทรัพย์สินของบริษัท ด้วยความระมัดระวัง โดยใช้อย่างประหยัด มีจิตสำนึกและรับผิดชอบ เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ และให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทเท่านั้น
  2. ผู้บริหารและพนักงานต้องช่วยกันดูแลรักษาและระมัดระวังไม่ให้ทรัพย์สินใดๆ ของบริษัทเสื่อมค่า เสียหาย หรือสูญหาย
  3. ผู้บริหารและพนักงานจะต้องไม่ใช้ทรัพย์สินของบริษัท เมื่อไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทอีกต่อไป
ทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท ข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ

บริษัทให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท ซึ่งหมายรวมถึง ชื่อของบริษัท โลโก้ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ความลับทางการค้า นวัตกรรม ข้อมูลต่างๆ และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยกำหนดไว้ดังนี้

  1. ผู้บริหารและพนักงานต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาในทุกประเทศที่บริษัทเข้าไปลงทุน รวมถึงประกาศ คำสั่งและระเบียบปฏิบัติต่างๆ ที่บริษัทกำหนดไว้
  2. ผู้บริหารและพนักงานต้องดูแลรักษาและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทไม่ให้เกิดความเสียหาย สูญหาย และดูแลให้มีการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่บริษัท
  3. ผู้บริหารและพนักงานมีหน้าที่รักษาความลับทางการค้าและข้อมูลต่างๆ ของบริษัทให้ได้รับความปลอดภัยอย่างดีที่สุด
  4. ผู้บริหารและพนักงานต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่บริษัทจัดให้เพื่อธุรกิจของบริษัทเท่านั้น
  5. ผู้บริหารและพนักงานต้องไม่เปิดเผยรหัสผ่าน (password) ที่ใช้ในการเข้าถึงระบบข้อมูลของบริษัทแก่ผู้อื่นที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง
  6. ผู้บริหารและพนักงานต้องไม่เผยแพร่ คัดลอก หรือนำซอฟต์แวร์ที่ผิดกฎหมายมาใช้ในบริษัท
  7. ผู้บริหารและพนักงานต้องไม่ใช้อีเมลหรือระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทในการส่งข้อความที่หยาบคาย ลามก ก่อกวน ข่มขู่ กล่าวร้ายให้กับผู้อื่น รวมถึงการหลีกเลี่ยงเว็บไซด์ที่ผิดกฎหมายหรือละเมิดศีลธรรมอันดีงาม ตามมาตราที่ระบุไว้ใน "พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550"
  8. ผู้บริหารและพนักงานต้องเคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า หรือการนำผลงานของผู้อื่นไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนหรือบริษัท อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับบริษัท
การให้และรับสินบน
  1. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ต้องปฏิบัติหน้าที่การงาน โดยไม่อาศัย หรือยินยอมให้ผู้อื่นอาศัยอำนาจหน้าที่ในตำแหน่งของตน ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม รวมถึง การเรียกร้อง หรือ ดำเนินการ เพื่อการคอร์รัปชั่น โดยยังประโยชน์อันมิชอบต่อตนเองหรือผู้อื่น นอกเหนือจากการปฏิบัติงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายแล้ว การกระทำดังกล่าวให้หมายรวมถึง
    • การให้ หรือรับ ของขวัญ หรือบริการ
    • การให้ หรือรับ เงินสด หรือสิ่งของแทนเงินสด
    • การติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลภายนอก หรือการรับสินบน
    • การยักยอกทรัพย์สิน หรือเวลางาน ของบริษัท
    • การฟอกเงิน
    • การยับยั้ง หรือขัดขวาง กระบวนการยุติธรรม และกระบวนการตามกฎหมาย
    • การช่วยเหลือทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเงินหรือรูปแบบอื่นๆ อาทิ การให้สิ่งของและบริการ การโฆษณาส่งเสริม ฯลฯ
    • การบริจาคเพื่อการกุศล
    • เงินสนับสนุน
  2. ผู้บริหารและพนักงานต้องไม่เรียกหรือรับผลประโยชน์ใดๆ จากคู่ค้า ผู้รับจ้าง ผู้รับเหมา ผู้จัดส่งสินค้า ที่ปรึกษา หรือผู้ที่บริษัทติดต่อธุรกิจด้วย
  3. ผู้บริหารและพนักงานต้องไม่เสนอผลประโยชน์ใดๆ ต่อลูกค้า คู่ค้า เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือผู้ที่บริษัทติดต่อธุรกิจด้วย เพื่อการจูงใจให้ปฏิบัติงานในทางมิชอบ
ของขวัญและการเลี้ยงรับรองทางธุรกิจ
  1. ผู้บริหารและพนักงานควรหลีกเลี่ยงการให้หรือรับของขวัญ ของกำนัลใดๆ ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน กับคู่ค้าของบริษัทหรือผู้ที่บริษัทติดต่อธุรกิจด้วย เว้นแต่ในเทศกาลและในมูลค่าที่เหมาะสม ซึ่งต้องไม่เกี่ยวข้องกับการมีข้อผูกมัดทางธุรกิจทั้งในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
  2. ผู้บริหารและพนักงานควรหลีกเลี่ยงการให้หรือรับการเลี้ยงรับรองในลักษณะที่เกินกว่าปกติจากบุคคลที่บริษัทฯ ติดต่อธุรกิจด้วย เว้นแต่การรับรองทางธุรกิจตามประเพณีนิยม โดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆ
  3. ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องรับของขวัญ หรือของกำนัลใดๆ ในมูลค่าที่สูงกว่าปกติ คือมูลค่าตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป ต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาให้รับทราบและส่งมอบของขวัญ ของกำนัลดังกล่าวให้กับบริษัทโดยทันที
การให้ข้อมูลหรือการให้สัมภาษณ์ต่อสาธารณชน
  1. การให้ข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับบริษัทฯ ต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง เป็นจริง ด้วยความระมัดระวัง โดยบุคคลที่ได้รับการมอบหมายให้กระทำการแทนบริษัทฯ
  2. บริษัทมอบหมายให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นผู้มีอำนาจในการให้ข้อมูล หรือให้สัมภาษณ์ต่อสาธารณชน ได้แก่ ผู้ถือหุ้น นักลงทุน นักวิเคราะห์ สื่อมวลชน และบุคคลภายนอก และมีอำนาจในการมอบหมายให้ผู้บริหารระดับสูงท่านอื่นๆ สามารถให้ข้อมูลได้ตามที่เห็นสมควร
  3. ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมอบหมายให้เลขานุการบริษัทเป็นผู้ติดต่อสื่อสารกับผู้ถือหุ้น ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์เป็นผู้ทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารกับผู้ถือหุ้น ผู้จัดการกองทุน นักลงทุน นักวิเคราะห์ สถาบันการเงิน และให้ฝ่ายสื่อสารองค์กรเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชน
ความขัดแย้งทางผลประโยชน์

บริษัทกำหนดให้กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวที่ขัดแย้งต่อผลประโยชน์ของบริษัท การดำเนินธุรกิจต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท และหากมีความขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้น ต้องรายงานและเปิดเผยโดยทันที ดังนี้

  1. กรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน ต้องไม่ประกอบธุรกิจที่แข่งขันกับบริษัทไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม
  2. ในกรณีที่กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานไปเป็นกรรมการ หุ้นส่วน หรือที่ปรึกษาในบริษัทอื่นใดที่ดำเนินธุรกิจอื่น
  3. การไปดำรงตำแหน่งนั้นต้องไม่ขัดต่อประโยชน์ของบริษัทและการปฏิบัติหน้าที่โดยตรงในบริษัท
  4. กรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน ต้องไม่กระทำการที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ของบริษัท
  5. กรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน ควรหลีกเลี่ยงการทำรายการที่เกี่ยวโยงกับตนเองที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัท
  6. ในกรณีที่เข้าข่ายเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันตามประกาศของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่งหรือข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานต้องปฏิบัติตนตามหลักเกณฑ์ วิธีการและข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลการทำรายการเกี่ยวโยง และการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทและบริษัทย่อย ตลอดจนปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชีที่กำหนดโดยสภาวิชาชีพบัญชี อย่างเคร่งครัด
  7. ในกรณีที่กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานมีความจำเป็นต้องเข้าไปทำรายการหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับรายการที่ตนมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ก็ต้องไม่มีส่วนในการพิจารณารายการดังกล่าว โดยให้ทำรายการนั้นเสมือนการทำรายการกับบุคคลภายนอกและคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบริษัท
  8. ในกรณีที่รายการที่เกี่ยวโยงกันไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการค้าทั่วไปตามหลักการที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัติ หรือมีลักษณะและขนาดของรายการไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของฝ่ายจัดการ ให้คณะกรรมการตรวจสอบเป็นผู้พิจารณาและให้ความเห็นก่อนนำเสนอเพื่อขออนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทหรือผู้ถือหุ้นแล้วแต่กรณี
  9. บริษัทจะเปิดเผยรายการที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และรายการระหว่างกันไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินที่ได้รับการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของบริษัท และในรายงานประจำปี รวมถึงแบบแสดงรายการข้อมูล (แบบ 56-1) เป็นประจำทุกปี
การรักษาความลับและข้อมูลภายในบริษัท

บริษัทได้กำหนดมาตรการป้องกันการใช้ข้อมูลภายในเพื่อหาผลประโยชน์ของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ดังนี้

  1. ไม่ให้กรรมการและผู้บริหารหรือหน่วยงานที่ได้รับทราบข้อมูลภายในใช้โอกาสดังกล่าว ในการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว หรือเปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลภายนอก หรือบุคคลที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท
  2. การไม่ซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทรวมถึงการให้ข้อมูลใดๆ ในช่วง 1 เดือนของกรรมการและผู้บริหาร ก่อนที่งบการเงินหรือข้อมูลอื่นใดจะเผยแพร่ต่อสาธารณชน เพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากการใช้ข้อมูลภายในของบริษัท ซึ่งยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชน และอาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของราคาซื้อขายหลักทรัพย์
  3. กรรมการและผู้บริหารตามคำนิยามของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนทุกท่านรับทราบหน้าที่ในการรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยทันทีไม่เกิน 3 วันทำการหลังจากวันที่ ซื้อ ขาย โอนหรือรับโอนหลักทรัพย์ของบริษัท
  4. การไม่เปิดเผยข้อมูลความลับทางธุรกิจของบริษัท ต่อบุคคลภายนอก แม้ว่าจะพ้นสภาพการเป็นกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทไปแล้วก็ตาม
ความรับผิดชอบต่อพนักงาน
  1. ให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมตามความรู้ความสามารถ ความรับผิดชอบ และผลการปฏิบัติงานของพนักงานแต่ละคน
  2. ส่งเสริมพัฒนา และเพิ่มพูนความรู้ความสามารถของพนักงาน ให้มีความก้าวหน้าและความมั่นคงในอาชีพ
  3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานในการกำหนดทิศทางการทำงาน และการแก้ไขปัญหาของบริษัท
  4. ดูแลรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัยต่อชีวิต สุขภาพอนามัย และการกระทำด้วยความสุจริต
  5. การให้รางวัลและการลงโทษพนักงานต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องและเป็นธรรม และกระทำด้วยความสุจริต
  6. ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานและสวัสดิภาพของพนักงาน
  7. บริหารงานพนักงานโดยหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ โดยไม่เป็นธรรมและไม่ถูกต้อง ซึ่งมีผลกระทบต่อความก้าวหน้าและมั่นคงในอาชีพในการงานของพนักงาน
  8. ปฏิบัติต่อพนักงานบนพื้นฐานของศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และให้ความเคารพต่อสิทธิหน้าที่ส่วนบุคคล
ความรับผิดชอบต่อลูกค้า
  1. สนองความต้องการของลูกค้า / ผู้บริโภคด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและบริการที่ดีเลิศ
  2. กำหนดระดับคุณภาพของสินค้า และบริการให้เป็นที่ยอบรับได้แก่ลูกค้า
  3. เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร เช่น การโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับสินค้า และบริการอย่างครบถ้วนถูกต้องเป็นธรรมแก่ลูกค้า และไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง
  4. ให้การรับประกันสินค้าและบริการภายใต้ข้อกำหนดอันเหมาะสม
  5. ไม่ส่งมอบและบริการให้แก่ลูกค้า ทั้งๆ ที่รู้ว่าสินค้าและบริการนั้นๆ มีข้อบกพร่อง เสียหาย หรืออาจเกิดอันตรายต่อลูกค้าได้ และไม่ปล่อยให้สินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานตกถึงมือลูกค้า
  6. จัดระบบการบริการลูกค้า ให้ลูกค้าสามารถร้องเรียนความไม่พอใจในสินค้า และบริการได้โดยสะดวก และกำหนดให้มีการดำเนินการอย่างดีที่สุด เพื่อให้ลูกค้าได้รับการตอบสนองผลอย่างรวดเร็ว
  7. พยายามบริหารต้นทุนการผลิตให้ต่ำสุด แต่ยังคงรักษาคุณภาพของสินค้าและบริการที่ได้มาตรฐานตลอดเวลา
  8. รักษาความลับของลูกค้าอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ รวมถึงไม่นำมาใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้เกี่ยวข้องโดยมิชอบ
  9. แสวงหาวิธีการต่างๆ เพื่อเป็นการให้บริการต่อลูกค้าอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
  10. ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือสัญญาต่างๆ ที่มีต่อลูกค้าอย่างเคร่งครัด
  11. หากมีกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงใดๆ กับลูกค้าได้ ต้องรีบแจ้งให้ลูกค้าทราบล่วงหน้า เพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาและป้องกันความเสียหาย
  12. จัดให้มีระบบที่ให้ความปลอดภัยต่อลูกค้า เช่น ระบบป้องกันอัคคีภัย ป้องกันการถูกโจรกรรม
  13. ไม่ควรค้ากำไรเกินควรเมื่อเปรียบเทียบกับคุณภาพของสินค้าหรือบริการ และไม่กำหนดเงื่อนไขการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกค้า
ความรับผิดชอบต่อคู่ค้าและเจ้าหนี้
  1. ปฏิบัติตามข้อตกลงที่มีต่อคู่ค้าและเจ้าหนี้อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัตถุประสงค์การใช้เงิน การชำระเงินคืน การดูแลคุณภาพของหลักทรัพย์ค้ำประกัน และเรื่องอื่นใดที่ให้ข้อตกลงไว้กับเจ้าหนี้ กรณีที่จะไม่สามารถปฏิบัติได้ ต้องรีบเจรจากับคู่ค้าและเจ้าหนี้เป็นการล่วงหน้า เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขและป้องกันมิให้เกิดความเสียหาย
  2. ให้ข้อมูลทางการเงินที่ถูกต้อง ครบถ้วนตามความเป็นจริง
  3. ไม่เรียก ไม่รับ หรือไม่จ่ายผลประโยชน์ใดๆ ที่ไม่สุจริตในการค้ากับคู่ค้าหรือเจ้าหนี้ ถ้าหากมีข้อมูลว่ามีการจ่ายผลประโยชน์ใดๆ ที่ไม่สุจริตเกิดขึ้น พึงหารือกับคู่ค้าหรือเจ้าหนี้ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยยุติธรรมและรวดเร็ว
ขั้นตอนและหลักเกณฑ์ในการเลือกคู่ค้า

การพิจารณาเลือกคู่ค้าเพื่อมาบันทึกในระบบจัดซื้อจัดจ้างของบริษัท จะต้องทำการตรวจสอบประวัติจากเอกสารหลักฐานที่นำเสนอ และข้อมูลข่าวสารต่างๆ โดยจะเน้นให้เป็นไปตามเกณฑ์ ดังนี้

  1. เป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้จำหน่าย ผู้แทนจำหน่าย ผู้ให้บริการ หรือผู้รับจ้าง ซึ่งมีสถานประกอบการที่สามารถตรวจสอบได้
  2. มีบุคลากร เครื่องจักรและอุปกรณ์ สินค้า บริการ คลังสินค้า สถานภาพทางการเงิน และประวัติการดำเนินกิจการที่น่าเชื่อถือ
  3. ยอมรับที่จะปฏิบัติตามจรรยาบรรณคู่ธุรกิจของกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน
  4. ยอมรับที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขและนโยบายด้านต่างๆ ของกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน
  5. เป็นผู้ที่มีผลงานเป็นที่น่าพอใจ โดยจะประเมินผลงานจากคุณภาพของสินค้าและบริการ รวมถึงการส่งมอบ การให้บริการหลังการขาย การรับประกัน หรือเงื่อนไขอื่นๆ ในการทำธุรกรรม
  6. เป็นคู่ค้าที่ไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกับธุรกิจของกลุ่มบริษัท หรือไม่เป็นคู่ค้าที่มีประวัติต้องห้ามทำการค้าอันเนื่องมาจากการกระทำทุจริตคอร์รัปชั่น
ความรับผิดชอบต่อการแข่งขันทางการค้า
  1. แข่งขันทางการค้าภายในกรอบกติกาของการแข่งขันที่เป็นธรรม
  2. ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่แข่งทางการค้าด้วยวิธีการที่ไม่สุจริต ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมาย
  3. ไม่ทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งขันด้วยการกล่าวร้าย หรือกระทำการใดๆ โดยปราศจากความจริงและไม่เป็นธรรม
ความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม
  1. ให้การสนับสนุนกิจการอันเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมส่วนรวม
  2. คืนผลกำไรส่วนหนึ่งขององค์กรให้แก่กิจกรรมที่มีส่วนสร้างสรรค์สังคมอย่างสม่ำเสมอ
  3. ส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
  4. ไม่กระทำการใดๆ ที่มีผลเสียหายต่อชื่อเสียงของประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  5. ไม่กระทำการใดๆ ที่ช่วยเหลือและสนับสนุน หรือยอมเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ หรือเป็นภัยต่อสังคมและความมั่นคงของประเทศ
  6. ปลูกฝังจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นในหมู่พนักงานทุกระดับอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
  7. ปฏิบัติหรือมีการควบคุมให้มีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องที่ออกโดยหน่วยงานกำกับดูแล
  8. ไม่นำเงินของผู้ถือหุ้นไปสนับสนุนทางการเมือง
ความรับผิดชอบของพนักงานต่อบริษัท
  1. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ สุจริต มีความภักดี เพื่อความก้าวหน้าและความมั่นคงของบริษัทและตัวพนักงานเอง
  2. ร่วมกันรักษาและสร้างสรรค์ให้เกิดความสามัคคีและความเป็นน้ำหนึ่งเดียวกันในหมู่พนักงาน ร่วมกันทำงานและแก้ไขปัญหาเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพ
  3. เอาใจใส่และปฏิบัติหน้าที่การงานของบริษัทด้วยความรับผิดชอบ เสียสละ อดทน เพื่อสร้างบริษัทให้มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และมีผลกำไร เพื่อการพัฒนาบริษัทไปสู่ความเป็นเลิศ
  4. ใช้ทรัพย์สินของบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดและบำรุงรักษา ไม่ให้เสื่อมค่า หรือสูญหาย รวมทั้งไม่ใช้ทรัพย์สินของบริษัทเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
  5. รักษาความลับของลูกค้า คู่ค้า และบริษัทอย่างเคร่งครัด
  6. ร่วมมือและช่วยเหลือในการทำงานกับผู้ร่วมงานทุกคน เพื่อประโยชน์ของบริษัท และเคารพในสิทธิของพนักงานอื่นที่รวมเป็นบริษัทเดียวกัน
  7. เอาใจใส่และช่วยเหลือดำเนินการใดๆ ที่จะรักษาสภาพแวดล้อมและสร้างความปลอดภัยที่ดีในการทำงาน เพื่อให้มีความสะอาดปลอดภัย และน่ารื่นรมย์อยู่เสมอ
  8. ให้ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำงานแก่ผู้ร่วมงาน โดยยึดประโยชน์และเป้าหมายของบริษัทเป็นสำคัญ
  9. ไม่กล่าวร้ายบริษัท / ผู้บริหาร และเพื่อนพนักงานโดยปราศจากซึ่งความจริงและไม่เป็นธรรม
  10. แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้บริหาร หากพบว่ามีการกระทำใดๆ ในบริษัทโดยมิชอบหรือผิดกฎหมาย
  11. ไม่อาศัยตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองและผู้อื่นโดยมิชอบ
  12. ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียง
  13. เอาใจใส่จริงจัง และเคร่งครัดต่อกิจกรรมทั้งปวง ที่จะเสริมสร้างคุณภาพ ประสิทธิภาพและการพัฒนาองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศ
การดูแลให้มีการปฏิบัติตามจริยธรรมธุรกิจ
  1. กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานทุกคนมีหน้าที่ต้องรับทราบและปฏิบัติตามจริยธรรมธุรกิจอย่างเคร่งครัด หากพบว่ามีการฝ่าฝืนหรือมีการกระทำใดๆ ที่ขัดต่อจริยธรรมธุรกิจ บริษัทจะดำเนินการพิจารณาลงโทษตามแต่ละกรณี
  2. ผู้บริหารและผู้บังคับบัญชาควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามจริยธรรมธุรกิจ รวมถึงควรช่วยส่งเสริม สร้างจิตสำนึก และการอบรมให้พนักงานยึดถือและปฏิบัติตามจริยธรรมธุรกิจ
  3. การรับข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับจริยธรรมธุรกิจ โดยกำหนดให้เลขานุการบริษัททำหน้าที่เป็นหน่วยงานรับข้อร้องเรียนด้านบรรษัทภิบาลและจริยธรรมธุรกิจ ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทสามารถส่งข้อร้องเรียนด้านบรรษัทภิบาลและจริยธรรมธุรกิจได้โดยตรงมายังที่อยู่ต่อไปนี้
ทางไปรษณีย์ หน่วยรับข้อร้องเรียนด้านบรรษัทภิบาลและจริยธรรมธุรกิจ
ฝ่ายเลขานุการบริษัท สำนักประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)

เลขที่ 979/12 ชั้น M อาคารเอสเอ็มทาวเวอร์ ถนนพหลโยธิน
แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
ทางอีเมล CG_Ethics@thaiunion.com

ดาวน์โหลด


Please read our General Disclaimer & Warning carefully.
Use of this Website constitutes acceptance of the Terms of Website Use.
Copyright © 2024. ThaiListedCompany.com. All Rights Reserved.