This printed article is located at https://investor-th.thaiunion.com/annual_review.html

Annual Review

ภาพรวม

เศรษฐกิจโลกในปี 2566 แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นท่ามกลางความท้าทาย ประกอบด้วยความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลง แต่ยังคงสูงกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาด ไทยยูเนี่ยนสามารถรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านมาตรการเชิงกลยุทธ์ที่ลดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด และสามารถส่งมอบแรงขับเคลื่อนเชิงบวกในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลให้ไทยยูเนี่ยนมีสถานะที่แข็งแกร่งพร้อมรับการเติบโตอย่างยั่งยืน ความสามารถในการปรับตัวและการมองการณ์ไกลเชิงกลยุทธ์ของกลุ่มบริษัทมีความสําคัญอย่างยิ่งในการรักษาความเป็นผู้นําตลาดและเตรียมพร้อมสําหรับความสําเร็จในอนาคตภายใต้สภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รายงานยอดขายที่ 136.2 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากผลประกอบการที่โดดเด่นของบริษัท ไอ-เทล ในปี 2565 กลยุทธ์การปรับลดสัดส่วนของธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นและภาวะเงินฝืดของราคาตลาดในสหรัฐอเมริกา รายได้จากค่าขนส่งที่ลดลง และการขาดแคลนเงินเหรียญสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ ปริมาณการขายโดยรวมลดลงร้อยละ 12.9 จากปีก่อน เป็นผลจากความต้องการซื้อที่ลดลงในทุกกลุ่มธุรกิจหลัก และจากกลยุทธ์การปรับลดสัดส่วนธุรกิจอาหารแช่แข็งและแช่เย็นในสหรัฐอเมริกา

กำไรขั้นต้นในปี 2566 อยู่ที่ 23.2 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 14.6 จากปีก่อน ทั้งนี้ ไทยยูเนี่ยนยังคงสามารถรักษาอัตราส่วนกำไรขั้นต้นให้อยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 17.1 แม้จะลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนเนื่องด้วยราคาปลาที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 จากปีก่อน

ไทยยูเนี่ยนรายงานกำไรสุทธิปกติจำนวน 4.5 พันล้านบาท ในปี 2566 ลดลงร้อยละ 37.0 จากปีก่อน (ลดลงร้อยละ 28.0 จากปีก่อน หากไม่รวมผลจาก dilution impact ของบริษัท ไอ-เทล) ทั้งนี้กำไรสุทธิปกติไม่รวมการด้อยค่าที่ไม่ใช่เงินสดครั้งเดียวจากแผนถอนการลงทุนในธุรกิจ Red Lobster จำนวน 18.4 พันล้านบาท และการจัดประเภทของธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Reb Lobster ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 5 หรือ IFRS 5 โดยการลดลงส่วนใหญ่เป็นผลจากการลดลงของกำไรจากการดำเนินงาน และรายการที่ไม่ได้มาจากการดำเนินงาน ได้แก่ ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น และการลดลงของเครดิตภาษี โดยอัตราส่วนกำไรสุทธิปกติอยู่ที่ร้อยละ 3.3 หากรวมรายการที่ไม่ใช่เงินสดครั้งเดียวดังกล่าว บริษัทฯ บันทึกขาดทุนสุทธิจำนวน 13.9 พันล้านบาท ในปี 2566

กระแสเงินสดอิสระในปี 2566 อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ 7.3 พันล้านบาท และกลับมาอยู่ในระดับก่อนเกิด COVID-19 ส่วนใหญ่เป็นผลจากการจัดการเงินทุนหมุนเวียนสุทธิอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้งบลงทุน (CAPEX) ที่ลดลง แม้ว่า EBITDA ลดลงเล็กน้อย ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนของไทยยูเนี่ยน ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 0.78 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 0.54 เท่า ณ สิ้นปี 2565 อย่างไรก็ตามอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนยังคงมีสถานะที่แข็งแกร่ง

ธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปยังคงเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้จากการขายสูงสุดสำหรับไทยยูเนี่ยน โดยคิดเป็นร้อยละ 46.9 ของยอดขายรวมในปี 2566 ส่วนมูลค่ายอดขายจากธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง แช่เย็น และธุรกิจที่เกี่ยวข้องคิดเป็นร้อยละ 34.7 ของยอดขายรวม ลดลงจากการปรับลดสัดส่วนธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นในสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีสัดส่วนยอดขายคิดเป็นร้อยละ 11.1 ลดลงจากผลประกอบการที่โดดเด่นในปีก่อน ส่วนมูลค่ายอดขายจากธุรกิจผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าและอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 7.3 ของยอดขายรวม อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัทในปี 2566 มีดังต่อไปนี้:

1. ความผันผวนของการสั่งซื้อสินค้าของลูกค้า ในปี 2566

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ผลประกอบการของไทยยูเนี่ยนได้รับแรงกดดันจากฐานที่สูงในปีก่อน และความต้องการซื้อที่ลดลงในทุกกลุ่มธุรกิจ เนื่องจากลูกค้ามีสินค้าคงคลังในระดับสูง โดยเฉพาะในธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปและธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ ราคาปลาทูน่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เป็นผลจากอัตราการจับปลาเฉลี่ยที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เราเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นจากการที่ลูกค้าเริ่มกลับมาสั่งซื้อสินค้าเนื่องจากการขนส่งกลับสู่ภาวะปกติและราคาวัตถุดิบที่ลดลง

2. การตัดสินใจที่สำคัญเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลักและการเติบโตของธุรกิจ

ไทยยูเนี่ยนยังคงเดินหน้าถอนการลงทุนจากกิจการที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. การปิดการดำเนินงาน

  • ปิดโรงงานที่เมือง Lubeck เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานในประเทศเยอรมนี
  • ปิดธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งในประเทศจีน

2. การปรับลดสัดส่วนธุรกิจ

  • การปรับลดสัดส่วนธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งเกี่ยวกับอาหารเสริม อาหารทะเลแปรรูป และอาหารทะเลแช่เย็น

3. การปรับโครงสร้างธุรกิจ

  • ปรับลดสัดส่วนธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นในสหรัฐอเมริกา โดยมุ่งเน้นการทำกำไรมากกว่ารายได้
3. การตัดสินใจถอนการลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้นส่วนน้อยในธุรกิจ Red Lobster

ไทยยูเนี่ยนเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ Red Lobster ตั้งแต่ปี 2559 จากการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในฐานะผู้ถือหุ้นส่วนน้อย โดยในปี 2566 ไทยยูเนี่ยนได้ทำการทบทวนธุรกิจ Red Lobster เพื่อระบุจุดที่สามารถปรับปรุงในเชิงการปฏิบัติการและในด้านการเงิน ทั้งนี้ ณ วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2567 หลังจากการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว บริษัทฯ มีความเห็นว่าธุรกิจ Red Lobster ที่มีความต้องการใช้เงินสูง ไม่สอดคล้องกับแผนการจัดสรรเงินลงทุนของบริษัทฯ ดังนั้น บริษัทฯ จึงตัดสินใจถอนการลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้นส่วนน้อยใน Red Lobster

เนื่องด้วยการตัดสินใจถอนการลงทุนนี้ ไทยยูเนี่ยนบันทึกรายการด้อยค่าที่ไม่ใช่เงินสดครั้งเดียว จำนวน 18.4 พันล้านบาท ในไตรมาส 4 ของปี 2566 นอกจากนี้ ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Red Lobster ในปี 2566 ซึ่งประกอบด้วยขาดทุนจากการดำเนินงานและจากการปรับมูลค่าทางบัญชีของสัญญาเช่า ได้ถูกจัดประเภทใหม่ภายในมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 5 หรือ IFRS 5 (สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนที่ถือไว้เพื่อขายและการดำเนินงานที่ยกเลิก) รวมถึงการด้อยค่าที่ไม่ใช่เงินสดครั้งเดียวจำนวน 18.4 พันล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวม 19.6 พันล้านบาท

4. ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

ไทยยูเนี่ยนมียอดขายร้อยละ 88.5 ที่เกิดขึ้นในสกุลเงินต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินเหรียญสหรัฐ ยูโร และปอนด์สเตอร์ลิง โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2566 อยู่ที่ 35.0 ในเดือนธันวาคม 2566 อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงอยู่เสมอ โดยครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 80.0 ของยอดขายที่คาดการณ์ไว้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

ดูเพิ่มเติม

ภาพรวมธุรกิจ แยกโดยกลุ่มธุรกิจ

กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป

ในปี 2566 ยอดขายกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปมีมูลค่า 63.9 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.9 จาก 66.5 พันล้านบาท ในปี 2565 โดยปริมาณขายลดลงร้อยละ 12.7 จากปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากความต้องการซื้อที่ลดลงและราคาปลาที่ยังคงอยู่ในระดับสูงมาเกือบ 3 ไตรมาส ซึ่งถูกชดเชยบางส่วนจากราคาขายที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ลูกค้ารับจ้างผลิตเริ่มกลับมาสั่งซื้อสินค้าเนื่องจากราคาปลาทูน่ามีแนวโน้มลดลงในไตรมาส 4 ของปี 2566 ด้วยเหตุนี้ อัตรากำไรขั้นต้นจึงอยู่ที่ร้อยละ 19.0 ในปี 2566 ส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาปลาที่สูงขึ้นและปริมาณการขายที่ลดลงเช่นกัน

ราคาเฉลี่ยปลาทูน่าพันธุ์ท้องแถบ (Skipjack) (จากมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก/ณ ท่าเรือกรุงเทพฯ) ในปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 มาอยู่ที่ 1,784 เหรียญสหรัฐต่อตัน จาก 1,663 เหรียญสหรัฐต่อตัน ในปี 2565

กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง แช่เย็น และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

ยอดขายกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง แช่เย็น และธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีมูลค่า 47.3 พันล้านบาท ในปี 2566 ลดลงร้อยละ 17.0 จาก 57.0 พันล้านบาท ในปีก่อน มีปัจจัยหลักมาจากการปรับลดสัดส่วนของธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้มูลค่าและปริมาณการขายลดลง รวมถึงความต้องการซื้อที่ลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกา และภาวะเงินฝืด อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ของไทยยูเนี่ยนคือการมุ่งเน้นการทำกำไรในธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นในสหรัฐอเมริกามากกว่าการมุ่งเน้นขนาดของรายได้ ทั้งนี้ ในปี 2566 อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษมาอยู่ที่ร้อยละ 11.3 เนื่องจากต้นทุนค่าขนส่งและราคาวัตถุดิบที่ลดลง รวมถึงการปรับโครงสร้างการกลุ่มผลิตภัณฑ์

ราคากุ้งขาวเฉลี่ย (ขนาดกุ้ง 60 ตัวต่อกิโลกรัม) ลดลงร้อยละ 14.8 อยู่ที่ 138 บาทต่อกิโลกรัม ในปี 2566 จากราคาเฉลี่ยที่ 162 บาทต่อกิโลกรัม ในปี 2565 และราคาปลาแซลมอนเฉลี่ยอยู่ที่ 95 นอร์วีเจียนโครนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 จากราคาเฉลี่ยที่ 80 นอร์วีเจียนโครนต่อกิโลกรัม ในปี 2565

กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง

ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงบันทึกยอดขาย 15.1 พันล้านบาท ในปี 2566 ลดลงร้อยละ 30.6 จากปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากฐานที่สูงในปี 2565 และการลดระดับของสินค้าคงคลัง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นเริ่มปรับตัวดีขึ้น และคาดว่าจะกลับมาเติบโตในไตรมาสถัดไป (ไตรมาส 1 ของปี 2567) ทั้งนี้ อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงในปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 20.5 ลดลงจากร้อยละ 26.3 ในปี 2565 เป็นผลจากปริมาณการขายที่ลดลง สัดส่วนการขายสินค้า และต้นทุนต่อหน่วยที่สูงขึ้น

กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า และอื่นๆ

ในปี 2566 ยอดขายของธุรกิจผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าและอื่นๆ มีมูลค่า 9.9 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.0 จากปีก่อนหน้า เป็นผลจากฐานที่สูงในปี 2565 และผลการดำเนินงานของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินงานของธุรกิจกระป๋องที่เป็นธุรกิจปลายน้ำ ซึ่งชดเชยบางส่วนด้วยการเติบโตของธุรกิจผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าและธุรกิจส่วนประกอบอาหาร อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าและอื่น ๆ ในปี 2566 ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 27.1 เป็นผลจากราคาวัตถุดิบที่ลดลง โดยเฉพาะราคาเหล็กและอะลูมิเนียม การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งชดเชยบางส่วนด้วยปริมาณการขายที่ลดลง



ภาพรวมธุรกิจ แยกตามภูมิภาค

ในปี 2566 ยอดขายลดลงในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา อย่างไรก็ดี ตลาดสหรัฐอเมริกาและแคนาดายังคงเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีสัดส่วนร้อยละ 40.7 ของยอดขายรวม ตามมาด้วยตลาดยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 29.6 ของยอดขายรวม สำหรับประเทศไทยมีสัดส่วนยอดขายในประเทศอยู่ที่ร้อยละ 11.5 ของยอดขายรวม โดยยอดขายที่ลดลงเป็นผลจากความต้องการซื้อที่ลดลงในทุกกลุ่มธุรกิจ ในขณะที่สัดส่วนยอดขายในตลาดเกิดใหม่และภูมิภาคอื่นๆ รวมกันอยู่ที่ร้อยละ 18.2 ของยอดขายรวม

สกุลเงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับยูโร (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 จากปีก่อน) และปอนด์สเตอร์ลิง (ค่อนข้างทรงตัวจากปีก่อน) แต่แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ (ลดลงร้อยละ 0.7 จากปีก่อน)

ยอดขายในตลาดสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ลดลงอย่างมีนัยสำคัญร้อยละ 19.0 จากปีก่อน ในปี 2566 ส่วนใหญ่เป็นผลจากการปรับลดสัดส่วนธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นในสหรัฐอมเริกา และความต้องการซื้อที่ลดลงเนื่องจากการลดระดับของสินค้าคงคลัง (destocking) และเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

ยอดขายในตลาดยุโรป ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากปริมาณการขายลดลงร้อยละ 13.9 จากปีก่อน ซึ่งได้รับผลกระทบชั่วคราวจากการเพิ่มขึ้นของราคาและความต้องการซื้อที่ลดลงจากธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง โดยบางส่วนชดเชยด้วยการเพิ่มขึ้นของความต้องการซื้อของธุรกิจผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า

ยอดขายจากประเทศไทย ลดลงร้อยละ 4.4 จากปีก่อน ในขณะที่ ยอดขายในตลาดเกิดใหม่และภูมิภาคอื่น ๆ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญร้อยละ 16.5 จากปีก่อน จากฐานที่สูงในปีก่อน ความต้องการซื้อที่ลดลงจากการลดระดับของสินค้าคงคลัง และการขาดแคลนเงินเหรียญสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง

ดูเพิ่มเติม

อัตราส่วนทางการเงิน

อัตราส่วนทางการเงิน 2564 2565 2566
อัตราส่วนสภาพคล่อง      
อัตราส่วนสภาพคล่อง (เท่า) 1.56 2.38 1.70
อัตราส่วนสภาพคล่องหมุนเร็ว (เท่า) 0.54 0.83 0.64
อัตราส่วนโครงสร้างของทุน      
อัตราส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (เท่า) 1.68 1.07 1.51
อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (เท่า)** 1.14 0.68 1.03
อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (เท่า)** 0.99 0.54 0.78
อัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ย (เท่า) 6.21 4.29 3.00****
อัตราส่วนแสดงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน      
อัตราส่วนการหมุนเวียนของสินทรัพย์ (เท่า) 0.91 0.89 0.78
อัตราส่วนการหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือ (เท่า) 2.71 2.59 2.19
อัตราส่วนการหมุนเวียนของลูกหนี้การค้า (เท่า) 11.81 11.50 9.77
อัตราส่วนการหมุนเวียนของเจ้าหนี้การค้า (เท่า) 10.03 9.90 9.23
จำนวนวันหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือ (วัน) 133 139 164
จำนวนวันหมุนเวียนของลูกหนี้การค้า (วัน) 30 31 37
จำนวนวันหมุนเวียนของเจ้าหนี้การค้า (วัน) 36 36 39
อัตราส่วนแสดงความสามารถในการทำกำไร      
อัตรากำไรขั้นต้น (ร้อยละ) 18.2 17.5 17.1
อัตรากำไร EBITDA (ร้อยละ) 10.6 8.3 8.2****
อัตรากำไรสุทธิ (ร้อยละ) 5.7 4.6 3.3****
อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ร้อยละ) 16.1 11.1 7.1****
อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ร้อยละ)** 6.9 4.9 4.0****
อัตราผลตอบแทนต่อเงินลงทุนเฉลี่ย 10.1 6.8 5.6****
ข้อมูลต่อหุ้น      
กำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติต่อหุ้น (บาท) 1.66 1.47 0.93****
เงินปันผลต่อหุ้น (บาท) 0.95 0.84 0.54
มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (บาท)*** 12.74 17.32 13.16
* หนี้สิน คือ หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยเท่านั้น
** อัตราผลตอบแทนจากทรัพย์สิน คือ กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี / สินทรัพย์รวมเฉลี่ย
*** มูลค่าตามบัญชี = รวมส่วนของผู้ถือหุ้น / (จำนวนหุ้นที่จดทะเบียนและชำระแล้ว - จำนวนหุ้นซื้อคืน)
**** อัตราส่วนการทำกำไรคำนวณโดยอ้างอิงตัวเลขตามผลการดำเนินงานปกติ นั่นคือไม่รวมการด้อยค่าที่ไม่ใช่รายการเงินสดครั้งเดียวของ Red Lobster จำนวน 18.4 พันล้านบาท ในไตรมาสที่ 4/2566 และปี 2566 และก่อนการจัดประเภทตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 5

บทวิเคราะห์งบการเงิน

ยอดขาย

ในปี 2566 บริษัทฯ มียอดขายรวมอยู่ที่ 136.2 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 12.5 จากปีก่อน โดยมีสาเหตุจากยอดขายที่ลดลงในทุกกลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงลดลงร้อยละ 30.6 จากปีก่อน เนื่องจากผลการดำเนินงานที่โดดเด่นในปีก่อน ธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นลดลงร้อยละ 17.0 จากปีก่อน ธุรกิจผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าและอื่นๆ ลดลงร้อยละ 5.0 จากปีก่อน และธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปลดลงร้อยละ 3.9 จากปีก่อน นอกจากนี้ ปริมาณการขายลดลงร้อยละ 12.9 จากปีก่อน เป็นผลจากความต้องการซื้อที่ลดลงในทุกธุรกิจหลัก และจากกลยุทธ์ปรับลดสัดส่วนธุรกิจอาหารแช่แข็งและแช่เย็นในสหรัฐอเมริกา โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป มียอดขายอยู่ที่ 63.9 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 46.9 ของยอดขายรวมในปี 2566 และลดลงร้อยละ 3.9 จากปีก่อน โดยสาเหตุหลักมาจากปริมาณขายลดลง และราคาปลาที่ยังคงอยู่ในระดับสูงมาเกือบ 3 ไตรมาส ซึ่งถูกชดเชยบางส่วนจากราคาขายที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ลูกค้ารับจ้างผลิตเริ่มกลับมาสั่งซื้อสินค้า เนื่องจากราคาปลาทูน่ามีแนวโน้มลดลงในไตรมาส 4 ของปี 2566
  • กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง แช่เย็น และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง มียอดขายอยู่ที่ 47.3 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34.7 ของยอดขายรวมในปี 2566 และลดลงร้อยละ 17.0 จากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากกลยุทธ์การปรับลดสัดส่วนธุรกิจ ความต้องการซื้อที่ลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกา และภาวะเงินฝืด อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับความสามารถในการทำกำไรในสหรัฐฯ มากกว่ารายได้
  • กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง มียอดขายอยู่ที่ 15.1 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.1 ของยอดขายรวมในปี 2566 และลดลงร้อยละ 30.6 จากปีก่อน เนื่องจากฐานที่สูงในปีก่อน และลูกค้ามีสินค้าคงคลังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 อย่างไรก็ตาม ยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เริ่มเร่งตัวดีขึ้น และคาดว่าจะกลับมาเติบโตในไตรมาส 1 ของปี 2567
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า และอื่นๆ มียอดขายลดลงร้อยละ 5.0 จากปีก่อน อยู่ที่ 9.9 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 7.3 ของยอดขายรวมในปี 2566 โดยลดลงจากผลการดำเนินงานของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากผลการดำเนินงานของธุรกิจกระป๋องที่เป็นธุรกิจปลายน้ำ ซึ่งชดเชยบางส่วนจากการเติบโตของธุรกิจผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าและธุรกิจส่วนประกอบอาหาร
กำไรขั้นต้น

บริษัทฯ รายงานกำไรขั้นต้นในปี 2566 เท่ากับ 23.2 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 14.6 จากปีก่อน โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ร้อยละ 17.1 โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ร้อยละ 19.0 ลดลงจากปีก่อน เนื่องจากราคาปลาที่สูง ปริมาณการขายที่ลดลง และรายได้ค่าขนส่งที่ลดลง
  • กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง มีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งอยู่ที่ร้อยละ 11.3 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.7 ในปี 2565 เนื่องจากต้นทุนค่าขนส่งและการจัดการสินค้าคงคลังที่ดีขึ้น รวมถึงราคาวัตถุดิบที่ลดลง
  • กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง มีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ร้อยละ 20.5 ลดลงจากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากปริมาณการขายที่ลดลง สัดส่วนการขายสินค้า และต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่สูงขึ้น
  • กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า และอื่นๆ มีอัตรากำไรขั้นต้นในระดับแข็งแกร่งที่ร้อยละ 27.1 เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่ลดลง การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้น และกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่งถูกชดเชยด้วยปริมาณการขายที่ลดลง
ค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร (SG&A)

ในปี 2566 ค่าใช้จ่ายการขายและบริหารลดลงอย่างมากร้อยละ 15.3 จากปีก่อน โดยได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ลดลง ต้นทุนค่าขนส่งที่ลดลง และมาตรการป้องกันกำไรของบริษัทฯ ทั้งนี้ อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายในปี 2566 ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 12.0 เทียบกับร้อยละ 12.4 ในปี 2565

กำไรจากการดำเนินงาน

ในปี 2566 บริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงาน 6.9 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 14.1 จาก 8.1 พันล้านบาท ในปี 2565 สาเหตุหลักมาจากยอดขายที่ลดลงในทุกกลุ่มธุรกิจหลัก แม้ว่าค่าใช้จ่ายการขายและบริหารลดลง โดยอัตรากำไรจากการดำเนินงานต่อยอดขายในปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 5.0 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 5.2 ในปี 2565

กำไร/ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน

ในปี 2566 บริษัทฯ รายงานขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 236 ล้านบาท เทียบกับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 800 ล้านบาท ในปี 2565 ส่วนใหญ่มาจากการผันผวนอย่างมากของสกุลเงินบาทต่อเหรียญสหรัฐ

ส่วนแบ่งกำไร/งาดทุนจากเงินลงทุนบริษัทร่วม

ในปี 2566 บริษัทฯ มีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมจำนวน 679 ล้านบาท เทียบกับส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมจำนวน 1,030 ล้านบาท ในปี 2565 ส่วนใหญ่มาจากการตัดสินใจถอนการลงทุนใน Red Lobster ทั้งนี้หากรวมส่วนแบ่งขาดทุนจาก Red Lobster จำนวน 1,219 ล้านบาท ในปี 2566 บริษัทฯ มีส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมปกติอยู่ที่ 540 ล้านบาท

รายได้อื่น

ในปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้อื่นจำนวน 838 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8.9 จาก 919 ล้านบาทในปี 2565 สาเหตุหลักมาจากภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ขอคืนไม่ได้ ซึ่งถูกชดเชยบางส่วนด้วยการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยและการชดเชยค่าภาษีอากร

ค่าใช้จ่ายทางการเงิน

ในปี 2566 ต้นทุนทางการเงินอยู่ที่ 2.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 จากปีก่อน มีสาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยสูงขึ้นเล็กน้อย จากสัดส่วนของหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (ประมาณร้อยละ 21 ของหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยทั้งหมด)

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

สำหรับปี 2566 บริษัทฯ มีเครดิตภาษีเงินได้จำนวน 620 ล้านบาท ลดลงจากเครดิตภาษีจำนวน 840 ล้านบาทในปี 2565 การลดลงส่วนใหญ่มีสาเหตุหลักมาจากส่วนแบ่งขาดทุนจาก Red Lobster ที่ลดลงโดยในปี 2566 อัตราภาษีที่แท้จริง (effective tax rate) อยู่ที่ร้อยละ -13.4 เมื่อเทียบกับร้อยละ -12.8 ในปี 2565

รายงานกำไรสุทธิปกติ

บริษัทฯ รายงานกำไรสุทธิปกติสำหรับปี 2566 อยู่ที่ 4.5 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 37.0 จากปีก่อน (ลดลงร้อยละ 28.0 จากปีก่อนหน้า ถ้าไม่รวม dilution impact จากบริษัท ไอ-เทล) โดยการลดลงของกำไรสุทธิส่วนใหญ่เป็นผลจากการลดลงของกำไรจากการดำเนินงาน และรายการที่ไม่ได้มาจากการดำเนินงานได้แก่ (1) ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 236 ล้านบาท (เทียบกับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 800 ล้านบาท ในปี 2565) (2) ต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ย (3) และการลดลงของเครดิตภาษี ทั้งนี้ อัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 3.3 เทียบกับร้อยละ 4.6 ในปี 2565

กำไรสุทธิปกติที่อ้างอิงข้างต้น ไม่รวมการด้อยค่าที่ไม่ใช่เงินสดครั้งเดียวจากแผนถอนการลงทุนในธุรกิจ Red Lobster จำนวน 18.4 พันล้านบาท และธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Red Lobster ในปี 2566 ที่จัดประเภทไว้ภายใต้รายการการดำเนินงานที่ยกเลิกตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 5 หรือ IFRS 5 (สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนที่ถือไว้เพื่อขายและการดำเนินงานที่ยกเลิก) มูลค่า 1.2 พันล้านบาท ในไตรมาส 4 ของปี 2566 ทั้งนี้ กำไรสุทธิตามงบการเงินที่ประกาศ (รวมรายการดังกล่าวข้างต้น) มีผลขาดทุนจำนวน 13.9 พันล้านบาท สำหรับปี 2566

บทวิเคราะห์สถานะทางการเงิน

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 สินทรัพย์รวมทั้งหมดของบริษัทฯ อยู่ที่ 165.5 พันล้านบาท ลดลงอย่างมีนัยสำคัญร้อยละ 9.4 จาก 182.6 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 ส่วนใหญ่เป็นผลจากการถอนเงินลงทุนใน Red Lobster ซึ่งทำให้เงินลงทุนในหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิลดลงทั้งจำนวน

หนี้สินรวมอยู่ที่ 99.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 จาก 94.4 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 สาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของส่วนของเงินกู้ยืมระยะยาวที่กำหนดชำระในหนึ่งปีและเงินกู้ยืมระยะยาว ซึ่งบางส่วนถูกชดเชยด้วยการลดลงของเจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้อื่น และการลดลงของเงินกู้ยืมระยะสั้น

ส่วนของผู้ถือหุ้นทั้งหมด (รวมหุ้นกู้ลักษณะคล้ายทุน มูลค่า 6.0 พันล้านบาท) อยู่ที่ 66.0 พันล้านบาท ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จาก 88.1 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 เนื่องจากแผนการถอนการลงทุนใน Red Lobster และรายการด้อยค่าที่ไม่ใช่เงินสดครั้งเดียวที่บันทึกในไตรมาส 4 ของปี 2566

บทวิเคราะห์กระแสเงินสด

ในช่วงปี 2566 เงินสดสุทธิที่ได้มาจากกิจกรรมการดำเนินงานอยู่ที่ 11.2 พันล้านบาท กระแสเงินสดอิสระปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งมาอยู่ที่ 7.3 พันล้านบาท เทียบกับ 1.8 พันล้านบาท ในปี 2565 ส่วนใหญ่มาจากการบริหารเงินทุนหมุนเวียนสุทธิอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้งบลงทุนที่ลดลง แม้ว่า EBITDA ลดลงจากปีก่อน

เงินสดสุทธิที่ใช้ในกิจกรรมการลงทุนอยู่ที่ 6.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 5.4 พันล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีสาเหตุจากการลงทุนในตราสารหนี้และเงินลงทุนระยะสั้น

บริษัทฯ บันทึกเงินสดสุทธิที่ใช้ไปในกิจกรรมจัดหาเงินจำนวน 2.4 พันล้านบาท ในปี 2566 ลดลงจากเงินสดสุทธิที่ได้มาจากกิจกรรมจัดหาเงินจำนวน 2.7 พันล้านบาท ในปี 2565 ทั้งนี้ กิจกรรมจัดหาเงินในปี 2566 ก่อให้เกิดเงินสดจ่าย ส่วนใหญ่เป็นผลจากเงินสดจ่ายสุทธิเพื่อชำระหุ้นทุนซื้อคืน และการซื้อหุ้นคืนของบริษัท ไอ-เทล ในขณะที่กิจกรรมจัดหาเงินในปี 2565 สร้างเงินสดรับ เป็นผลมาจากเงินสดรับสุทธิจากการ IPO ของบริษัท ไอ-เทล

จำนวนเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดลดลงสุทธิ 2.3 พันล้านบาท ในปี 2566 ส่งผลให้เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดอยู่ที่ 14.2 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 (รวมการใช้เงินเบิกเกินบัญชี)

ดูเพิ่มเติม

แนวทางการดำเนินงานในอนาคต

ไทยยูเนี่ยนมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้นำในธุรกิจอาหารทะเลที่น่าเชื่อถือที่สุดของโลก ตลอดจนใส่ใจดูแล และรักษาทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อรักษาให้คงไว้แก่คนรุ่นหลัง เรายังมุ่งที่จะส่งมอบคุณค่าทางสารอาหารที่ดีผ่านผลิตภัณฑ์ที่มีการจัดหาวัตถุดิบมาอย่างมีความรับผิดชอบสู่ผู้บริโภคทั่วโลก เพื่อที่จะสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อบริษัท ไทยยูเนี่ยนสานต่อความมุ่งมั่นดังกล่าวผ่านกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange® เพื่อดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้คน ควบคู่ไปกับการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลภายใต้แนวคิด “Healthy Living, Healthy Oceans” ในเดือนกรกฎาคม ปี 2566 บริษัทฯ ประกาศการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ของ SeaChange® พร้อมเป้าหมายใหม่และพันธสัญญาใหม่จนถึงปี 2573 และตั้งงบประมาณจำนวน 7.2 พันล้านบาท หรือกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การคุ้มครองสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ การฟื้นฟูระบบนิเวศที่สำคัญ ตลอดจนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ในช่วงต้นปี 2567 ไทยยูเนี่ยนจะประกาศแผนกลยุทธ์สำหรับปี 2573 ซึ่งจะให้ความสำคัญกับกลุ่มธุรกิจหลัก คือ อาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋อง อาหารทะเลแช่แข็ง แช่เย็น และอาหารสัตว์เลี้ยง ที่จะสร้างความแข็งแกร่ง และทำกำไร พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะยาวสำหรับผู้ถือหุ้น

ในปี 2567 ไทยยูเนี่ยนตั้งเป้าการเติบโตของยอดขายที่ร้อยละ 3.0 - 4.0 จากปีก่อน และอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 17.0 - 18.0 อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารต่อยอดขายอยู่ที่ประมาณร้อยละ 11.0 - 12.0 และคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.0 - 0.5 ในปี 2567

ในปี 2567 ไทยยูเนี่ยนมีแผนใช้เงินลงทุนจำนวน 4.0 - 4.5 พันล้านบาท สำหรับการลงทุนในกลุ่มธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ รวมทั้งการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานของธุรกิจในปัจจุบัน เพื่อให้บริษัทฯ สามารถเติบโตและสร้างกำไรได้อย่างยั่งยืน

การลงทุนหลักของเราในปี 2567 คือการลงทุนในโรงงานอาหารพร้อมทาน และโรงงานโปรตีนไฮโดรไลเสตและคอลลาเจนเปเทด์ รวมถึงโรงงานอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกในประเทศไทย นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมุ่งลงทุนในเครื่องจักร อุปกรณ์ และการปรับปรุงอาคาร รวมทั้งขยายกำลังการผลิตในธุรกิจหลัก ทั้งนี้ การให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพร้อมกับการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง จะช่วยส่งผลให้สถานะทางการเงินของบริษัทฯ เข้มแข็งขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของกระแสเงินสดรับ

ไทยยูเนี่ยนยังคงมุ่งมั่นที่จะรักษาอัตราจ่ายเงินปันผลในระดับสูง โดยเรามีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิในแต่ละปี และบริษัทจะแบ่งจ่ายเงินปันผลเป็น 2 งวดต่อปี


Please read our General Disclaimer & Warning carefully.
Use of this Website constitutes acceptance of the Terms of Website Use.
Copyright © 2024. ThaiListedCompany.com. All Rights Reserved.