This printed article is located at https://investor-th.thaiunion.com/risk_management.html

Risk Management

บริษัทตระหนักดีว่าการบริหารและจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพถือเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจของบริษัทโดยส่งเสริมให้พนักงานมีทัศนคติที่ดีและมีความเข้าใจต่อความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในธุรกิจ ตลอดจนมีเครื่องมือและกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม การบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพต้องสร้างวัฒนธรรมที่เหมาะสมและมีการปฏิบัติตลอดทั้งองค์กร

  • บริษัทได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่เป็นปีที่ 10 ติดต่อกัน สำหรับหัวข้อการบริหารความเสี่ยงและภาวะวิกฤตบริษัทอยู่ในเปอร์เซ็นไทล์ที่ 99 และยังได้รับรางวัลชนะเลิศ สาขา Environmental & Social Management (ESRM) Pioneer Award จัดโดย Enterprise Risk Management Academy (ERMA) ในฐานะองค์กรที่สามารถบูรณาการกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงเข้ากับแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บริษัทได้กำหนดโครงสร้างรวมถึงบทบาทความรับผิดชอบในการบริหารความเสี่ยงไว้อย่างชัดเจน คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้มีหน้าที่กำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงองค์กรที่สำคัญ โดยตระหนักและดูแลให้อยู่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของบริษัท และแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (Risk Management Committee: RMC) ทำหน้าที่ดูแลการปฏิบัติตามแนวทางการบริหารความเสี่ยง การรายงานความเสี่ยง และการจำกัดความเสี่ยงอยู่เสมอ ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงประกอบด้วยกรรมการอิสระและผู้บริหารระดับสูงของบริษัท โดยประธานกรรมการบริหารความเสี่ยงเป็นหนึ่งในกรรมการอิสระ

วัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยง

บริษัทแสดงออกถึงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงในทุกระดับของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากระดับคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารส่งเสริมและบังคับให้มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพและสม่ำเสมอ เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรการกำหนดนโยบาย กรอบงาน แนวปฏิบัติ และโครงสร้างการบริหารความเสี่ยงแสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมของบริษัท

กรรมการบริษัท ซึ่งรวมถึงกรรมการที่เป็นผู้บริหารและไม่ใช่ผู้บริหาร คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และผู้บริหาร จะติดตาม ประเมิน และได้รับการฝึกอบรมอย่างสม่ำเสมอเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง ปัจจัยความเสี่ยง และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่

บริษัทได้มีการอบรมเกี่ยวกับหลักการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร รวมไปถึงเมื่อมีปรับปรุงกรอบโครงสร้างและคู่มือการบริหารความเสี่ยงของกลุ่มใหม่ ซึ่งประกอบไปด้วยเกณฑ์ในการประเมินผลกระทบทั้ง 7 มุมมอง โดยการอบรมมุ่งเน้นไปที่วัตถุประสงค์และกระบวนการบริหารความเสี่ยงองค์กร (ERM) ของบริษัท เพื่อให้มั่นใจว่ามีความเข้าใจในเรื่องการบริหารความเสี่ยง นอกจากนี้ ยังมีการฝึกอบรมในหัวข้อ “Slowing Growth, Growing Risk – Where Next for the Global Economy” ที่กล่าวถึงสภาวะเศรษฐกิจโลกซึ่งเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนและ ESG เพื่อกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมพิจารณาความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเสี่ยง (Risk awareness) จึงได้มีการนำเสนอข้อคิดเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (RMC) เป็นประจำทุกไตรมาส มีการควบคุมดูแลกระบวนการบริหารความเสี่ยงทั้งระดับกลุ่มและระดับธุรกิจ และมีการอบรมให้กับกรรมการบริษัทและผู้บริหารอย่างสม่ำเสมอ โดยมุ่งมั่นที่จะให้คำแนะนำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารความเสี่ยงภายในบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยอีกด้วย

บริษัทสนับสนุนให้พนักงานได้รับทราบเรื่องการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสมนับแต่วันแรกที่ร่วมงานกับบริษัทผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การปฐมนิเทศพนักงานใหม่ การฝึกอบรมด้านการบริหารความเสี่ยง กิจกรรมต่อเนื่องและการอัปเดตข่าวสารต่างๆ

บริษัทเชื่อมโยงแรงจูงใจทางการเงิน (Financial incentives) เข้ากับความสำเร็จของแผนจำกัดความเสี่ยง (Mitigation plan) ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ขององค์กรและได้ถูกนำไปใช้อย่างทั่วถึง ซึ่งแผนจำกัดความเสี่ยงจะครอบคลุมทั้งความเสี่ยงทางการเงิน, กลยุทธ์, การปฏิบัติตามกฎระเบียบ และการดำเนินงาน เช่น สุขภาพและความปลอดภัย, นวัตกรรมผลิตภัณฑ์, แนวปฏิบัติด้านแรงงาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับผู้บริหารระดับสูงและผู้จัดการสายงานแผนจำกัดความเสี่ยงจะถูกแปลงเป็นเป้าหมาย/ดัชนีชี้วัดผลการปฏิบัติงานของบุคคล (KPI) ซึ่งจะถูกนำมากำหนดอัตราการจ่ายโบนัสร่วมกับผลการดำเนินงานของบริษัท เพื่อเป็นการส่งเสริมความมุ่งมั่นในการจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพทั่วทั้งองค์กร

นอกจากนี้ การบริหารความเสี่ยงเป็นองค์ประกอบในการวางแผนทางธุรกิจ การตัดสินใจ และการดำเนินงานตัวอย่างของการพิจารณาที่สำคัญ รวมถึง

  • การผสานเกณฑ์ความเสี่ยงร่วมไปกับกระบวนการพัฒนาและอนุมัติผลิตภัณฑ์จัดเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์ของบริษัท และนวัตกรรมถือเป็นส่วนสำคัญของความเสี่ยงในองค์กร โดยมีดัชนีชี้วัดความเสี่ยง (KRIs) ของโครงการนวัตกรรม เช่น ยอดขายสุทธิ, อัตรากำไรขั้นต้น, และ %NSV ที่ใช้สำหรับผลิตภัณฑ์นวัตกรรมแต่ละรายการที่เปิดตัว สำหรับเกณฑ์ความเสี่ยงที่ใช้ในศูนย์นวัตกรรม (GIC) จะถูกวิเคราะห์ตลอดกระบวนการพัฒนาในขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การพัฒนาแนวคิดจนถึงการออกสู่ตลาด โดยผลการประเมินความเสี่ยงจะถูกนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (RMC) เพื่อสอบทานก่อนดำเนินกิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ เกณฑ์ความเสี่ยงเกี่ยวกับการลงทุนด้านนวัตกรรมและผลตอบแทนจะถูกทบทวนและหารือในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (RMC) และได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท (ถ้ามี)
  • การพิจารณาความเสี่ยงระดับกลยุทธ์ในช่วงกระบวนการพัฒนากลยุทธ์และการบริหารความเสี่ยงในระหว่างการปฏิบัติตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้
  • การบริหารความเสี่ยงในการลงทุนเชิงกลยุทธ์ซึ่งรวมถึงการเข้าซื้อและการควบรวมกิจการ การลงทุนทางธุรกิจประเภทใหม่ รายจ่ายการลงทุนขนาดใหญ่ รวมอยู่ในการบริหารความเสี่ยง โดยคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงจะพิจารณาความเสี่ยงและแผนบริหารความเสี่ยงว่าเพียงพอและเหมาะสม
  • บริษัทมีนโยบายการเงินและการบริหารความเสี่ยงทางการเงินของกลุ่ม ครอบคลุมถึงความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย ความเสี่ยงด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ความเสี่ยงด้านการให้สินเชื่อลูกค้า ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และแนวทางปฏิบัติด้านการบริหารเงินทุนและธรรมาภิบาล ตัวชี้วัด ที่ใช้ในการพิจารณาและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท และถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือสื่อสาร และควบคุมที่สำคัญสำหรับทีมบริหารและการเงินทั่วโลก
  • คณะกรรมการพัฒนาอย่างยั่งยืน นำโดยประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารในฐานะประธานกรรมการ คณะกรรมการ ดูแลกลยุทธ์และการบริหารความเสี่ยงด้านความยั่งยืนอย่างใกล้ชิด
  • คณะกรรมการด้านความปลอดภัยทางเทคโนโลยีสารสนเทศ นำโดยประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารในฐานะประธานคณะกรรมการ ดูแลกลยุทธ์และการบริหารความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างใกล้ชิด
โปรดคลิกที่นี่ สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมของคณะกรรมการชุดย่อยของไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


กรอบงานการบริหารความเสี่ยง

กรอบงานการบริหารความเสี่ยงของบริษัทกำหนดขึ้นโดยอ้างอิงมาตรฐานสากล COSO ERM ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติให้ฝ่ายบริหารและพนักงานทุกคนสามารถปฏิบัติตามได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้กรอบงานบริหารความเสี่ยงกำหนดให้มีการระบุปัจจัยเสี่ยง การประเมินความเสี่ยง การจัดการ การติดตาม และการสื่อสารอย่างเป็นระบบ อย่างต่อเนื่องเพื่อลดโอกาสของการเกิดความเสี่ยงซ้ำ และจำกัดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อธุรกิจของบริษัทกลุ่มไทยยูเนี่ยนดำเนินการบริหารความเสี่ยงทั้งในระดับ กลุ่มบริษัท ระดับกลุ่มธุรกิจ และระดับบริษัทในเครือ บริษัทยังทบทวนความเสี่ยงร่วมกับผู้ประสานงานความเสี่ยง เจ้าของความเสี่ยง และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงในเป็นทุกไตรมาส ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงได้รายงานความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญต่อบริษัทกลุ่มไทยยูเนี่ยนและแผนบรรเทาความเสี่ยงต่อกรรมการบริษัทเป็นประจำทุกไตรมาส

กระบวนการบริหารความเสี่ยง

กระบวนการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้

การเข้าใจบริบททางธุรกิจ วิสัยทัศน์ พันธกิจ คุณค่าหลัก และการกำหนดวัตถุประสงค์ระยะสั้นและระยะยาว ของ กลุ่มไทยยูเนี่ยน กลุ่มธุรกิจ และหน่วยงานที่สอดคล้องกัน

ระบุความเสี่ยงหรือเหตุการณ์ทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสำเร็จ/เป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเหตุการณ์ความไม่แน่นอนดังกล่าว อาจเป็นได้ทั้งเหตุการณ์เชิงบวก (โอกาส) หรือเหตุการณ์เชิงลบ (ความเสี่ยง) ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งบริษัทฯ พิจารณาระบุปัจจัยเสี่ยงทั้ง 3 มุมมอง ดังนี้

  1. ความเป็นไปได้ที่กลยุทธ์และวัตถุประสงค์ไม่สอดคล้องกับพันธกิจ วิสัยทัศน์ และคุณค่าหลักขององค์กร
  2. ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกลยุทธ์ที่เลือก
  3. ความเสี่ยงที่เกิดกับกลยุทธ์ และผลการปฏิบัติงาน

ภายใต้กรอบนโยบายการบริหารความเสี่ยงบริษัทฯ การระบุปัจจัยความเสี่ยงจะดำเนินการครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านการเงินและไม่ใช่ทางการเงิน ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) รวมถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk) ตามกลุ่มความเสี่ยง ได้แก่

  • ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์: ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการกำหนดนโยบาย แผนกลยุทธ์ และแผนการดำเนินงานอย่างไม่เหมาะสม รวมทั้งการกำกับดูแลและจัดสรรทรัพยากรซึ่งไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงภายในและสภาพแวดล้อมภายนอก เช่น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอุบัติภัย เป็นต้น
  • ความเสี่ยงด้านการดำเนินงาน: ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานภายในบริษัท ซึ่งรวมถึงปัจจัยการผลิต การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การขาย จนกระทั่วระบบสารสนเทศที่สนับสนุนการปฏิบัติงาน
  • ความเสี่ยงด้านการเงิน: ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการรายงานทางการเงิน ภาระผูกพันธ์ทางการเงิน การบริหารจัดการด้านการเงิน รวมถึงการลงทุน สภาพคล่องและความมั่นคงทางการเงิน
  • ความเสี่ยงด้านกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ: ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ แนวปฏิบัติมาตรฐานและสัญญาต่างๆ รวมทั้งระเบียบปฏิบัติภายในองค์กร

การประเมินและวิเคราะห์ความเสี่ยง บริษัทฯ จะดำเนินการในทุกมิติความเสี่ยงย่อยตามเกณ์การประเมินความเสี่ยง (Risk Criteria) ในมิติหลัก ได้แก่ ด้านการเงิน ด้านกระบวนการธุรกิจและการปฏิบัติการ ชื่อเสียงองค์กร ด้านลูกค้า ด้านบุคคล ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้ทั่วทั้งองค์กรทั้งการพิจารณาความเสี่ยงระดับกลุ่ม และความเสี่ยงระดับหน่วยธุรกิจ โดยมีเกณฑ์ในการประเมินความเสี่ยงที่เป็นมาตรฐานกลางขององค์กร ดังนี้

  • เกณฑ์การประเมินผลกระทบของความเสี่ยง (Impact)
    ประกอบด้วย 7 เกณฑ์ ได้แก่ กำไรสุทธิ ด้านชื่อเสียงของบริษัทหรือแบรนด์ ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ด้านการหยุดชะงักทางธุรกิจ ด้านกฏหมายและกฎระเบียบ หรือการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และด้านสารสนเทศ ซึ่งแบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับต่ำ ระดับปานกลาง ระดับสูง และระดับสูงมาก
  • เกณฑ์การประเมินโอกาสเกิด (Likelihood)
    ประกอบด้วย 2 เกณฑ์ ได้แก่ ความน่าจะเป็น และ ความถี่ในการเกิด ซึ่งแบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับต่ำ ระดับปานกลาง ระดับสูง และระดับสูงมาก หลักเกณฑ์ในการกำหนดระดับความเสี่ยงโดยรวมที่กำหนดขึ้น จากการพิจารณาความสัมพันธ์ของผลกระทบเมื่อเกิดความเสี่ยงกับโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยง โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ ดังตารางต่อไปนี้

ภายหลังจากผู้บริหารได้ประเมินระดับความเสี่ยงที่ยังเหลืออยู่ (Residual Risk) แล้ว ผู้บริหารพิจารณาระดับความเสี่ยงที่ยังเหลืออยู่ (Residual Risk) ให้ลดลงมาอยู่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite)

สำหรับรูปแบบการตอบสนองต่อความเสี่ยง สามารถแบ่งออก 5 รูปแบบ ได้แก่ การหลีกเลี่ยง การลด การโอน การยอมรับ การเพิ่ม

โดยบริษัทมีแนวทางในการจัดการความเสี่ยงในแต่ละระดับความเสี่ยง ตามตารางด้านล่าง

ภายใต้นโยบายบริหารความเสี่ยงบริษัทฯ กฎบัตรคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัทฯ จัดให้มีการดำเนินการการติดตาม ทบทวน ประเมินและรายงานผลการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าในทุกรายการความเสี่ยงจะยังคงสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ เหตุการณ์ และสภาพการดำเนินงานในปัจจุบันและอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที โดยมีการดำเนินการ ดังนี้

  • คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ติดตามและพัฒนากรอบการบริหารความเสี่ยงและกระบวนการบริหารความเสี่ยงของบริษัทและบริษัทย่อยอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และจัดให้มีการประเมิน วิเคราะห์และทบทวนความเสี่ยงของบริษัทและบริษัทย่อยอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต รวมถึงรายงานความเสี่ยง การจัดการความเสี่ยงที่สำคัญ ต่อคณะกรรมการบริษัทอย่างสม่ำเสมอ
  • บริษัทฯ ได้มีการกำหนดให้มีการแต่งตั้งผู้ประสานงานความเสี่ยง (Risk Coordinator) อย่างน้อยจำนวน 1 คน สำหรับแต่ละบริษัทย่อย และกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบอย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ
  • ผู้ประสานงานความเสี่ยง (Risk Coordinator) ของบริษัทย่อยและฝ่ายบริหารความเสี่ยงระดับกลุ่มควรมีการร่วมมือและติดต่อประสานงานกันอย่างสม่ำเสมอ โดยฝ่ายบริหารความเสี่ยงระดับกลุ่มจะต้องจัดส่งแบบฟอร์มที่ใช้ในการรายงานให้แก่ผู้ประสานงานความเสี่ยง (Risk Coordinator) เพื่อรวบรวมและสอบทานความเรียบร้อยของข้อมูลก่อนส่งให้แก่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงตามกำหนดเวลา จากนั้นฝ่ายบริหารความเสี่ยงจะนำข้อมูลที่ได้รับมาใช้ประกอบการจัดทำทะเบียนความเสี่ยงขององค์กรต่อไป

ข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกันจะต้องได้รับการระบุ จัดเก็บและนำไปสื่อสารในรูปแบบและกรอบเวลาที่เอื้อให้บุคลากรสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบได้ ข้อมูลสารสนเทศเป็นสิ่งที่ทุกระดับในองค์กรจำเป็นต้องใช้ในการระบุ การประเมิน และการตอบสนองต่อความเสี่ยง การสื่อสารที่มีประสิทธิผลจะต้องเกิดขึ้นและรับรู้ในวงกว้าง ทั้งจากระดับบนลงสู่ระดับล่าง ระหว่างหน่วยงาน และจากระดับล่างขึ้นสู่ระดับบน บุคลากรทุกฝ่ายจะต้องได้รับการสื่อสารที่ชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของตน

เพื่อสร้างความมั่นใจในระบบการบริหารความเสี่ยงซึ่งเป็นหนึ่งในระบบที่ช่วยสนับสนุนความสำเร็จตามพันธกิจและเป้าหมายการดำเนินธุรกิจขององค์กร การตรวจสอบประสิทธิภาพและการดำเนินการของระบบตามแนวทางสากลจึงเป็นสิ่งที่บริษัทฯคำนึงและให้ความสำคัญ โดยแนวทางการตรวจสอบที่บริษัทฯใช้อยู่ในปัจจุบันได้แก่

  • การตรวจสอบโดยหน่วยงานภายในองค์กร
    สายงานตรวจสอบของบริษัทฯ ซึ่งจะทำหน้าที่ในการสอบทานให้บริษัทฯ มีระบบบริหารความเสี่ยงและระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสมและมีประสิทธิผล โดยรายงานผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นกรรมการอิสระเท่านั้น อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
  • การตรวจสอบโดยหน่วยงานภายนอกองค์กร
    ดำเนินการโดยผู้ตรวจสอบภายนอกองค์กรเพื่อการรับรองมาตรฐานตามหลักสากลและแนวปฏิบัติในทุกปี เช่น มาตรฐาน ISO 9001 ด้านระบบการจัดการคุุณภาพ จากสถาบัน United Kingdom Accreditation Service (UKAS) มาตรฐาน ISO 14001 ด้านระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมจากสถาบัน United Kingdom Accreditation Service (UKAS) Independent Assurance Statement relating to Thai Union Group’s Sustainability report by LRQA (Thailand) Limited การตรวจสอบงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการโดยบริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย สอบบัญชี จำกัด

ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เป็นปัจจัยสำคัญที่กลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยนใช้พิจารณากำหนดกลยุทธ์และแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อยู่ในระดับสูงมากและระดับสูงเป็นความเสี่ยงที่เกินระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และต้องกำหนดให้มีมาตรการจัดการและแผนจำกัดความเสี่ยงในทันที ตัวอย่างด้านล่างคือระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของบริษัทฯ

ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

  • บริษัทฯ ไม่ยอมรับการทำงานที่ก่อให้เกิดทุพพลภาพถาวรหรือเสียชีวิต บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะให้พนักงานทุกคนทั่วโลกได้รับความปลอดภัยในการทำงาน

ด้านการหยุดชะงักทางธุรกิจที่โรงงานผลิต

  • บริษัทฯ ไม่ยอมรับเหตุการณ์ใดๆที่ทำให้การดำเนินงานของโรงงานหยุดชะงักกระทันหันและผลกระทบต่อกำลังการผลิต บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะลดความเสี่ยงทั้งโอกาสที่จะเกิดและผลกระทบต่อกำลังการผลิต มากกว่า 1 วัน

ด้านการให้สินบนและการคอร์รัปชัน

  • บริษัทมีนโยบายต่อต้านการให้สินบนและการคอรัปชันอย่างสิ้นเชิง ( Zero - Tolerance Policy) และถือปฎิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนและการคอร์รัปชันในทุกพื้นที่ที่บริษัทดำเนินธุรกิจ

ปัจจัยเสี่ยงและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่

ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป เป็นบริษัทแปรรูปอาหารทะเลชั้นนำในระดับโลกที่มีผลการดำเนินงานและผลประกอบการบริษัทเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบในอุตสาหกรรมอาหารทะเล ความเสี่ยงบางประการบริษัทสามารถจัดการเพื่อลดผลกระทบ และ/หรือลดโอกาสเกิดได้ อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยเสี่ยงบางประการอยู่นอกเหนือการควบคุมหรือการจัดการของบริษัทและอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินงาน ผลประกอบการ หรือชื่อเสียงของบริษัท

แผนภาพความเสี่ยงข้างต้นแสดงให้เห็นภาพรวมของความเสี่ยงที่สำคัญต่อธุรกิจที่มีผลต่อกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน ณ สิ้นปี 2565 และพัฒนาการระดับความเสี่ยงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 อย่างไรก็ตามเพื่อให้แน่ใจว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่อยู่ในวิสัยของบริษัท กลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยนได้ดำเนินการประเมินความเสี่ยงประจำปีร่วมกับ คณะผู้บริหารโดยคำนึงถึงปัจจัยรอบด้านจากผลการสำรวจความเสี่ยงระดับโลก เพื่อแสดงให้ คณะผู้บริหารตระหนักถึงความเสี่ยงระยะยาวที่อาจส่งผลกระทบต่อกลยุทธ์และวัตุประสงค์ทางธุรกิจของกลุ่มบริษัท

นอกเหนือจากแผนภาพความเสี่ยงข้างต้นแล้ว บริษัทยังคงตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ที่ส่งผลกระทบในระดับโลก เช่น ความล้มเหลวในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศที่รุนแรง การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ วิกฤตการจ้างงาน การพังทลายของความสามัคคีทางสังคม วิกฤตการดำรงชีวิต โรคติดเชื้อ การทำลายสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ วิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ วิกฤตหนี้สิน และการเผชิญหน้าทางเศรษฐศาสตร์ และได้พิจารณาความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่นี้ ในการประเมินความเสี่ยงร่วมกับ คณะผู้บริหารเป็นประจำทุกปีเพื่อให้แน่ใจว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่นั้นได้รับการจัดการตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

โปรดคลิกที่นี่ สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมของปัจจัยความเสี่ยง

โปรดคลิกที่นี่ สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมของปัจจัยความเสี่ยงเกิดใหม่

Please read our General Disclaimer & Warning carefully.
Use of this Website constitutes acceptance of the Terms of Website Use.
Copyright © 2024. ThaiListedCompany.com. All Rights Reserved.