เหตุการณ์สำคัญ

ไทยยูเนี่ยนเริ่มต้นก่อตั้งเมื่อปี 2520 ภายใต้บริษัท ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกปลาทูน่าบรรจุกระป๋อง จากนั้น ในปี 2531 ได้ก่อตั้ง บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ทียูเอฟ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ทียู) เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งเมื่อพ.ศ. 2531 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 25 ล้านบาท จากนั้นในพ.ศ 2535 บริษัทฯ ได้ร่วมทุนกับบริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท ฮาโกโรโม่ ฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรายใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น และเป็นลูกค้าและผู้จำหน่ายของบริษัทฯ โดยทั้งสองบริษัทมีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างต่อเนื่อง ต่อมาบริษัทฯ ได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน โดยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2537

เส้นทางการลงทุนในต่างประเทศของบริษัท

  • ปี 2540 เข้าลงทุนในชิกเก้นออฟเดอะซี ซึ่งเป็นแบรนด์ปลาทูน่ากระป๋องอันดับ 3 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการเข้าลงทุนในต่างประเทศเป็นครั้งแรก
  • ปี 2546 เข้าลงทุนในบริษัท เอ็มเพรส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายอาหารทะเลแช่แข็งในสหรัฐอเมริกา
  • ปี 2549 จัดตั้งบริษัท ไทร-ยูเนี่ยน โฟรเซ่น ฟู้ดส์ จำกัด (ชิกเก้นออฟเดอะซี โฟรเซ่น ฟู้ดส์) เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตอาหารทะเลแช่แข็งในสหรัฐอเมริกา ต่อมาได้ควบรวมกิจการกับบริษัท เอ็มเพรส อินเตอร์เนชั่นแนล และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “บริษัท ไทร-ยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด” เพื่อนำเข้าและจัดจำหน่ายอาหารทะเลแช่แข็ง และในปีเดียวกันบริษัทฯ ได้เข้าลงทุนใน บริษัท พีที จุยฟา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกปลาทูน่ากระป๋องในประเทศอินโดนีเซีย
  • ปี 2551 เข้าลงทุนในบริษัท ยู่เฉียงแคนฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลบรรจุกระป๋องในประเทศเวียดนาม
  • ปี 2552 เข้าลงทุนในบริษัท อะแวนติ ฟีด จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกอาหารกุ้งและกุ้งแช่แข็งที่ประเทศอินเดีย
  • ปี 2553 บริษัทฯ ขยายการลงทุนเข้าไปในภูมิภาคยุโรป ด้วยการเข้าซื้อกิจการของบริษัท เอ็มดับบลิว แบรนด์ส เอสเอเอส (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไทยยูเนี่ยน ยุโรป) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าบรรจุกระป๋อง ปลาซาร์ดีนกระป๋องและรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายชั้นนำในยุโรปภายใต้แบรนด์ John West, Petit Navire, Parmentier และ Mareblu และในปีเดียวกันยังได้เข้าลงทุนใน บริษัท ยูเอสเพ็ท นูทรีชั่น จำกัด ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศสหรัฐอเมริกา
  • ปี 2557 เข้าซื้อกิจการในภูมิภาคยุโรปอีกครั้ง ด้วยการซื้อบริษัท เมอร์อไลอันซ์ เอสเอเอส จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตปลาแซลมอนรมควันชั้นนำของยุโรป และติดอันดับ 4 ผู้ผลิตปลาแซลมอนรมควันในยุโรป โดยในปีเดียวกันยังได้เข้าซื้อกิจการบริษัท คิง ออสการ์ เอเอส จำกัด ผู้ผลิตปลาบรรจุกระป๋องในประเทศนอร์เวย์ ภายใต้เครื่องหมายการค้า คิง ออสการ์ ซึ่งเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งปลาซาร์ดีนระดับพรีเมี่ยมในประเทศนอร์เวย์ สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ที่มีอายุกว่า 140 ปี

พัฒนาการของบริษัทในรอบปี

บริษัทฯ มีการทำรีแบรนด์ดิ้งธุรกิจของไทยยูเนี่ยนทั่วโลกภายใต้วิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม และแบรนด์องค์กรใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียว และมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน เพราะจากการที่ไทยยูเนี่ยนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีธุรกิจครอบคลุมทั่วโลก ดังนั้น การทำงานร่วมกันจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกันให้มาผสมผสานรวมกันย่อมเป็นเรื่องสำคัญต่อการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายในอนาคตข้างหน้า

นอกจากการเปลี่ยนแบรนด์องค์กรแล้ว บริษัทฯ ได้มีการเปลี่ยนชื่อบริษัท และบริษัทย่อยใหม่ดังนี้

  1. บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ชื่อย่อหลักทรัพย์ใหม่จากเดิม ทียูเอฟ เปลี่ยนเป็นบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และชื่อย่อ ทียู
  2. บริษัท เอ็มดับบลิว แบรนด์ เอสเอเอส เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไทยยูเนี่ยน ยุโรป จำกัด
  3. บริษัท ไทยยูเนี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไทยยูเนี่ยน นอร์ทอเมริกา จำกัด
  • บริษัทฯ ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเป็น “ศูนย์บริหารเงิน” (Treasury Center: TC) จากกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2558 ซึ่งทำให้บริษัทมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการเงิน รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและความเสี่ยงทางการเงิน การจัดหาเงินทุน และการบริหารสภาพคล่องให้กับบริษัทในเครือทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • บริษัทฯ ได้รับอนุมัติให้เป็น “สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ” (International Headquarter: IHQ) โดยประกอบกิจการ “การให้บริการด้านบริหาร ด้านเทคนิค การให้บริการสนับสนุน และการบริหารการเงิน” จากกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2558

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับจากการเป็นสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ มีดังนี้

1. การยกเว้นภาษีสำหรับรายได้ที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือในต่างประเทศ และลดอัตราภาษีสำหรับรายได้ที่ได้รับจากวิสาหกิจในไทยสำหรับรายได้ดังต่อไปนี้

1.1 รายได้จากการให้บริการด้านบริหาร ด้านเทคนิค การให้บริหารสนับสนุน และการบริหารเงิน ซึ่งรวมถืงดอกเบี้ย
1.2 ค่าสิทธิ
1.3 เงินปันผล

2. ลดต้นทุนทางการเงิน โดยการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ
3. ดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ โดยการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติ

  • การเข้าซื้อสินทรัพย์ในบริษัท โอไรออน ซีฟู้ด อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตล็อบสเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในตลาดสหรัฐ ของบริษัท ชิคเก้นออฟเดอะซีโฟรเซ่นฟู้ดส์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของไทยยูเนี่ยน ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้ จะส่งผลให้ชิคเก้นออฟเดอะซี โฟรเซ่นฟู้ดส์ กลายเป็นผู้ประกอบการชั้นนำในประเภทผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง นอกเหนือจากกุ้งแช่แข็งและเนื้อปู
  • บริษัทฯ ได้เข้าร่วมทุนกับซาโวลา ฟู้ดส์ คอมพานี ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตลาดตะวันออกกลาง การร่วมทุนระหว่างกันครั้งนี้ จะเอื้อประโยชน์ต่อทั้งสองบริษัทในเรื่องการเข้าถึงแหล่งอาหารทะเลทั่วโลกจากความเชี่ยวชาญระดับโลกของไทยยูเนี่ยน และความเชี่ยวชาญระดับผู้นำภูมิภาคของซาโวลา อีกทั้งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งซึ่งกันและกันของทั้งสองฝ่าย โดยที่ไทยยูเนี่ยนมีความแข็งแกร่งด้านการสรรหาวัตถุดิบ การผลิต การพัฒนาและวิจัย ในขณะที่ทางซาโวลา มีความแข็งแกร่งด้านการขาย การตลาด และการจัดจำหน่าย
    สำหรับซาโวลา ฟู้ดส์ คอมพานี เป็นบริษัทในเครือของกลุ่มซาโวลา ซึ่งเป็นจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ในราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย และเป็นหนึ่งในบริษัทอาหารที่ใหญ่ที่สุดของตะวันออกกลาง และมีแบรนด์อาหารที่แข็งแกร่งอย่าง Afia, Alarabi Ladan และ Yudum เป็นต้น
  • การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในบริษัท ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด หรือ TUM จากเดิมร้อยละ 90.80 เป็นร้อยละ 99.66 ของทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท
  • การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในบริษัท สงขลาแคนนิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SC จากเดิมร้อยละ 90.44 เป็นร้อยละ 99.55 ของทุนจดทะเบียน 360 ล้านบาท
  • บริษัทฯ ได้ยุติข้อตกลงเข้าซื้อกิจการของบริษัท บัมเบิล บี ซีฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งเป็นแบรนด์อาหารทะเลสำเร็จรูปพร้อมรับประทานในประเทศสหรัฐอเมริกา และแคนาดา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558
    ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทได้ประกาศเข้าซื้อกิจการของบริษัท บัมเบิล บี ซีฟู้ดส์ ไปเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 แต่อยู่ในขั้นตอนการอนุมัติโดยกระทรวงการยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทั้งบริษัท และทางบริษัท ไลออน แคปปิตอล ได้พยายามสนับสนุนชี้แจงถึงผลดีของการซื้อขายกิจการดังกล่าวโดยละเอียดต่อกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามทั้งสองบริษัทสรุปว่าการดำเนินการดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูงที่จะใช้เวลานานเกินกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายหุ้นจึงได้ทำข้อตกลงยินยอมร่วมกันยุติการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว และมีผลยกเลิกสัญญาการซื้อขายหุ้นโดยทันที
  • บริษัทฯ เข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัท รูเก้น ฟิช จำกัด ผู้นำตลาดอาหารทะเลกระป๋องในประเทศเยอรมนี การร่วมทุนกับทางรูเก้น ฟิชนี้ จะมีประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์ต่อไทยยูเนี่ยน เนื่องจากประเทศเยอรมนี เป็นตลาดอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพการเติบโตให้กับไทยยูเนี่ยนในตลาดยุโรปได้เป็นอย่างดี