หลักจริยธรรมธุรกิจ

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) มีความตั้งใจในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จภายใต้กรอบบรรษัทภิบาล ดังนั้น นอกเหนือจากความมุ่งมั่นและความเอาใจใส่ในการดำเนินงานแล้ว บริษัทยึดมั่นในจริยธรรม คุณธรรม ความโปร่งใส และความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งจะนำพาให้บริษัทฯ ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน และเพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทและการปฏิบัติงานของกรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายและจริยธรรมดังกล่าว บริษัทจึงได้จัดทำคู่มือจริยธรรมธุรกิจ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม รวมถึงเป็นแนวทางและสื่อสารให้กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานทุกคนยึดถือปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

หลักการในการดำเนินธุรกิจ
  1. บริษัทจะดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงประสิทธิภาพ ประสิทธิผล มีจริยธรรม คุณธรรมและความโปร่งใส โดยยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียและสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมแก่ผู้ลงทุน รวมทั้งสร้างความก้าวหน้าและมีการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
  2. บริษัทจะปรับปรุงการบริหารจัดการกระบวนการและการปฏิบัติการต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น
  3. บริษัทจะบริหารงานด้วยความซื่อตรงและปฏิบัติตามกฎหมาย มาตรฐานและข้อปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ การบันทึกบัญชีอย่างถูกต้องและการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินอย่างสม่ำเสมอ
  4. บริษัทจะดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย รวมถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน
หลักการในการดำเนินธุรกิจ

“บริษัท” หมายความว่า บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย

“จริยธรรมธุรกิจ” หมายความว่า มาตรฐานหรือเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อพิจารณาว่าการกระทำหรือความประพฤติขององค์กร หรือบุคคลในองค์กรเป็นการกระทำหรือความประพฤติที่ดี ถูกต้องหรือเหมาะสม หรือไม่

ความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น
  1. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อตรง (Good Faith) และเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นทั้งรายใหญ่และรายย่อย เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นโดยรวม
  2. บริหารองค์กรด้วยความระมัดระวังรอบคอบ คำนึงถึงส่วนได้เสียในทุกๆ ด้าน
  3. ปฏิบัติหน้าที่โดยการประยุกต์ความรู้และทักษะการบริหารจัดการอย่างเต็มความสามารถในทุกกรณี
  4. จัดการดูแลมิให้ทรัพย์สินใดๆ ของบริษัทเสื่อมค่าผิดปกติหรือสูญหายโดยมิชอบ
  5. รายงานสถานะและผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างถูกต้องครบถ้วน และเปิดเผยด้วยความโปร่งใสต่อคณะกรรมการ ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท
  6. ไม่แสวงหาประโยชน์ให้ตนเองและผู้เกี่ยวข้องโดยใช้ข้อมูลใดๆ ขององค์กรซึ่งยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะชน
  7. แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทุกรายทราบอย่างเท่าเทียมกันถึงแนวโน้ม (Prospects) ในอนาคตของบริษัททั้งด้านบวกและด้านลบ ซึ่งจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้และมีข้อมูลสนับสนุนอย่างเพียงพอ
  8. ไม่ดำเนินการใดๆ ในลักษณะซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัทโดยมิได้แจ้งให้บริษัททราบ
ความรับผิดชอบต่อลูกค้า
  1. สนองความต้องการของลูกค้า / ผู้บริโภคด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐาน
  2. เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร เช่น การโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับสินค้าและบริการอย่างครบถ้วนถูกต้องเป็นธรรมแก่ลูกค้าและเป็นไปตามข้อเท็จจริง
  3. ให้การรับประกันสินค้าและบริการภายใต้ข้อกำหนดอันเหมาะสม
  4. รักษาคุณภาพของสินค้าและบริการ เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้า / ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ และไม่เป็นอันตราย ปราศจากความชำรุดบกพร่องหรือการปนเปื้อนใดๆ
  5. จัดระบบการบริการลูกค้า ให้ลูกค้าสามารถร้องเรียนความไม่พอใจในสินค้าและบริการได้โดยสะดวก และมีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อให้ลูกค้าได้รับการตอบสนองผลอย่างรวดเร็ว
  6. รักษาความลับและข้อมูลของลูกค้า และไม่นำความลับหรือข้อมูลดังกล่าวมาใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  7. มุ่งมั่นพัฒนาอยู่เสมอ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  8. ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือสัญญาต่างๆ ที่มีต่อลูกค้าอย่างเคร่งครัด
  9. หากมีกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงใดๆ กับลูกค้าได้ ต้องรีบแจ้งให้ลูกค้าทราบล่วงหน้า เพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อลูกค้า
  10. ไม่กำหนดเงื่อนไขการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกค้า
ความรับผิดชอบต่อคู่ค้าและเจ้าหนี้
  1. ปฏิบัติตามข้อตกลงที่มีต่อคู่ค้าและเจ้าหนี้อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัตถุประสงค์และการบริหารการใช้เงิน การชำระเงินคืน เงื่อนไขการค้ำประกัน การดูแลคุณภาพของหลักทรัพย์ค้ำประกัน และเรื่องอื่นใดที่ให้ข้อตกลงไว้กับเจ้าหนี้กรณีที่จะไม่สามารถปฏิบัติได้หรือผิดนัดชำระ ต้องรีบเจรจากับคู่ค้าและเจ้าหนี้เป็นการล่วงหน้า เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขและป้องกันมิให้เกิดความเสียหาย
  2. เปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่ถูกต้อง ครบถ้วนตามความเป็นจริง
  3. ไม่เรียก ไม่รับ หรือไม่จ่ายผลประโยชน์ใดๆ ที่ไม่สุจริตในทางการค้ากับคู่ค้าหรือเจ้าหนี้
ความรับผิดชอบต่อการแข่งขันทางการค้า

บริษัทให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท ซึ่งหมายรวมถึง ชื่อของบริษัท โลโก้ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ความลับทางการค้า นวัตกรรม ข้อมูลต่างๆ และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยกำหนดไว้ดังนี้

  1. แข่งขันทางการค้าภายในกรอบกติกาของการแข่งขันที่เป็นธรรม
  2. ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่แข่งทางการค้าด้วยวิธีการที่ไม่สุจริต ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมาย
  3. ไม่ทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งขันด้วยการกล่าวร้าย หรือกระทำการใดๆ โดยปราศจากความจริงและไม่เป็นธรรม
  4. ปฏิบัติตามกฎหมาย และข้อกำหนดในเรื่องการแข่งขันทางการค้าอย่างเคร่งครัด
ความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม
  1. ให้การสนับสนุนกิจการอันเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมส่วนรวม
  2. คืนผลกำไรส่วนหนึ่งขององค์กรให้แก่กิจกรรมที่มีส่วนสร้างสรรค์สังคมอย่างสม่ำเสมอ
  3. ส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
  4. ไม่กระทำการใดๆ ที่มีผลเสียหายต่อชื่อเสียงของประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  5. ไม่กระทำการใดๆ ที่ช่วยเหลือและสนับสนุน หรือยอมเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ หรือเป็นภัยต่อสังคมและความมั่นคงของประเทศ
  6. ปลูกฝังจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นในผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
  7. ปฏิบัติหรือมีการควบคุมให้มีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ความรับผิดชอบต่อพนักงาน
  1. กำหนดค่าตอบแทนที่เหมาะสมตามความรู้ความสามารถ ความรับผิดชอบและผลการปฏิบัติงานของพนักงานแต่ละคน
  2. ส่งเสริมพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้ความสามารถของพนักงาน ให้มีความก้าวหน้าและความมั่นคงในอาชีพ
  3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานในการกำหนดทิศทางการทำงานและการแก้ไขปัญหาของบริษัท
  4. ดูแลรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัยต่อชีวิต สุขภาพอนามัยและการกระทำด้วยความสุจริต
  5. การให้รางวัลและการลงโทษพนักงานต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องและเป็นธรรม และกระทำด้วยความสุจริต
  6. ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานและสวัสดิภาพของพนักงาน
  7. ปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรมบนพื้นฐานของศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และให้ความเคารพต่อสิทธิหน้าที่ส่วนบุคคล
ความรับผิดชอบของพนักงานต่อบริษัท
  1. ดำเนินการใดๆ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของบริษัท และปฏิบัติตามจริยธรรมธุรกิจอย่างเคร่งครัด
  2. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ สุจริต มีความภักดี เพื่อความก้าวหน้าและความมั่นคงของบริษัทและตัวพนักงานเอง
  3. ร่วมกันรักษาและสร้างสรรค์ให้เกิดความสามัคคีและความเป็นน้ำหนึ่งเดียวกันในหมู่พนักงาน ให้ความร่วมมือในการทำงาน และเคารพในความหลากหลาย สิทธิและเสรีภาพของเพื่อนร่วมงาน
  4. ใช้ทรัพย์สินของบริษัทด้วยความระมัดระวัง และรับผิดชอบ ใช้ทรัพย์สินของบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพ และบำรุงรักษา ดูแลรักษาไม่ให้เสื่อมค่า หรือสูญหาย รวมทั้งไม่ใช้ทรัพย์สินของบริษัทเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
  5. รักษาความลับของลูกค้า คู่ค้าและบริษัทอย่างเคร่งครัด
  6. เอาใจใส่และช่วยเหลือดำเนินการใดๆ ที่จะรักษาสภาพแวดล้อมและสร้างความปลอดภัยที่ดีในการทำงาน
  7. ให้ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำงานแก่ผู้ร่วมงาน โดยยึดประโยชน์และเป้าหมายของ บริษัทเป็นสำคัญ
  8. ไม่กล่าวร้ายบริษัท / ผู้บริหาร และเพื่อนพนักงานโดยปราศจากซึ่งความจริงและไม่เป็นธรรม
  9. แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้บริหาร หากพบว่ามีการกระทำใดๆ ในบริษัทโดยมิชอบหรือผิดกฎหมาย
  10. ไม่อาศัยตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองและผู้อื่นโดยมิชอบ
  11. ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของบริษัท
ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และการใช้ข้อมูลภายในบริษัท
  1. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวที่ขัดแย้งต่อผลประโยชน์ของบริษัท และการดำเนินธุรกิจต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท
  2. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ต้องไม่ประกอบธุรกิจที่แข่งขันกับบริษัทไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม
  3. กรณีที่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานไปเป็นกรรมการ หุ้นส่วน หรือที่ปรึกษาในบริษัทอื่นใดที่ดำเนินธุรกิจอื่น การไปดำรงตำแหน่งนั้นต้องไม่ขัดต่อประโยชน์ของบริษัทและการปฏิบัติหน้าที่โดยตรงในบริษัทและห้ามประกอบธุรกิจหรือมีส่วนร่วมในธุรกิจใดอันเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของบริษัท
  4. กรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน ต้องไม่กระทำการใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ของบริษัท
  5. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ควรหลีกเลี่ยงการทำรายการที่เกี่ยวโยงกับตนเองที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัท ในกรณีที่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานมีความจำเป็นต้องเข้าไปทำรายการหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับรายการที่ตนมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ให้รายงานให้บริษัททราบ และกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานดังกล่าวต้องไม่มีส่วนในการพิจารณา หรืออนุมัติรายการดังกล่าว
  6. ในกรณีที่เข้าข่ายเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันตามประกาศของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่งหรือข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานต้องปฏิบัติตนตามหลักเกณฑ์ วิธีการและข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลการทำรายการเกี่ยวโยง และการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทและบริษัทย่อย ตลอดจนปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชีที่กำหนดโดยสภาวิชาชีพบัญชีอย่างเคร่งครัด
  7. ในกรณีที่บริษัทมีความจำเป็นต้องเข้าทำรายการกับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน หรือบริษัทที่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานมีอำนาจควบคุม ให้ทำรายการนั้นเสมือนการทำรายการกับบุคคลภายนอกและคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบริษัทเป็นสำคัญ
  8. ในกรณีที่รายการที่เกี่ยวโยงกันไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการค้าทั่วไปตามหลักการที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัติ หรือมีลักษณะและขนาดของรายการไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของฝ่ายจัดการ ให้คณะกรรมการตรวจสอบเป็นผู้พิจารณาและให้ความเห็นก่อนนำเสนอเพื่อขออนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทหรือผู้ถือหุ้นแล้วแต่กรณี
  9. บริษัทจะเปิดเผยรายการที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์และรายการระหว่างกันไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินที่ได้รับการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของบริษัท และในรายงานประจำปีเป็นประจำทุกปี
การรักษาความลับและข้อมูลภายในบริษัท
  1. ห้ามกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานหรือหน่วยงานที่ได้รับทราบข้อมูลภายในใช้โอกาสดังกล่าว ในการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว หรือเปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลภายนอก หรือบุคคลที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทหรือแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ชอบไม่ว่าด้วยประการใดๆ
  2. ห้ามกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และบุคคลที่บริษัทกำหนดซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทรวมถึงให้ข้อมูลใดๆ ในช่วง 1 เดือนก่อนการเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงาน งบการเงินประจำรายไตรมาสและประจำปี และช่วงเวลาอื่นที่บริษัทจะกำหนดเป็นครั้งคราว เพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากการใช้ข้อมูลภายในของบริษัท ซึ่งยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชน และอาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของราคาซื้อขายหลักทรัพย์
  3. กรรมการและผู้บริหารตามคำนิยามของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนทุกท่านรับทราบหน้าที่ในการรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ของตน คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ในกรณีที่มีความประสงค์ที่จะซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจะต้องแจ้งเลขานุการบริษัทหรือผู้ที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมายล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วันก่อนทำการซื้อขายและรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ของตน คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อสำนักงานคณะกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงประกาศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และนําส่งสําเนารายงานดังกล่าวให้กับเลขานุการบริษัทภายใน 3 วันทำการหลังจากได้รายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ต่อสำนักงานคณะกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าวแล้ว
  4. ไม่เปิดเผยข้อมูลความลับทางธุรกิจของบริษัท ต่อบุคคลภายนอก แม้ว่าจะพ้นสภาพการเป็นกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทไปแล้วก็ตาม
  5. ในกรณีที่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยประการใดๆ ให้ส่งคืนข้อมูลความลับทางธุรกิจใดๆ ที่ตนได้เก็บรักษาไว้แก่บริษัท
การปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ
  1. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานจะต้องปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบธุรกิจ
  2. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
  3. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของบริษัท
  4. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานจะต้องไม่กระทำการใด หรือมีส่วนรู้เห็น ช่วยเหลือ สนับสนุน ร่วมมือ เพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ
  5. กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานจะต้องให้ความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับ และรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ อย่างเคร่งครัด
ทรัพย์สินทางปัญญา ข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ
  1. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงประกาศ คำสั่งและระเบียบปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
  2. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานต้องดูแลรักษาและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทไม่ให้เกิดความเสียหาย สูญหาย และดูแลให้มีการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่บริษัท
  3. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานมีหน้าที่รักษาความลับทางการค้าและข้อมูลต่างๆ ของบริษัท
  4. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่บริษัทจัดให้เพื่อธุรกิจของบริษัทเท่านั้น
  5. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานต้องไม่เปิดเผยรหัสผ่าน (password) ที่ใช้ในการเข้าถึงระบบข้อมูลของบริษัทแก่ผู้อื่นที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง
  6. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานต้องเคารพในทรัพย์สินทางปัญญาของคู่ค้า รวมถึงบุคคลภายนอกอื่นๆ และไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น รวมถึงไม่เผยแพร่ คัดลอก หรือนำซอฟต์แวร์ที่ผิดกฎหมายมาใช้ในบริษัท
  7. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานต้องใช้อีเมลหรือระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัท เพื่อกิจการของบริษัทเท่านั้น และไม่ใช้อีเมลหรือระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทในทางที่จะเกิดความเสียหาย เช่น การส่งข้อความที่หยาบคาย ลามก ก่อกวน ข่มขู่ กล่าวร้ายให้กับผู้อื่น รวมถึงการหลีกเลี่ยงการเข้าถึงเว็บไซด์ที่ผิดกฎหมายหรือละเมิดศีลธรรมอันดีงาม และไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการละเมิดต่อกฎหมาย ซึ่งรวมถึง “พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550”
ต่อต้านการให้สินบนและการคอร์รัปชัน
  1. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ต้องปฏิบัติหน้าที่การงาน โดยไม่อาศัยหรือยินยอมให้ผู้อื่นอาศัยอำนาจหน้าที่ในตำแหน่งของตน ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม รวมถึงการเรียกร้อง หรือ ดำเนินการเพื่อการคอร์รัปชัน เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์อันมิชอบต่อตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย การกระทำดังกล่าวให้หมายรวมถึง
    • การให้ หรือรับ ของขวัญ การเลี้ยงรับรองหรือบริการ
    • ค่าอำนวยความสะดวก
    • การให้ หรือรับ เงินสด หรือสิ่งของแทนเงินสด
    • การติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลภายนอก หรือการรับสินบน
    • การยักยอกทรัพย์สินหรือเวลางานของบริษัท
    • การยับยั้ง หรือขัดขวาง กระบวนการยุติธรรมและกระบวนการตามกฎหมาย
    • การช่วยเหลือทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเงินหรือรูปแบบอื่นๆ อาทิ การให้สิ่งของและบริการ การโฆษณาส่งเสริม ฯลฯ
    • การบริจาคเพื่อการกุศลและการเป็นผู้ให้การสนับสนุน
    • เงินสนับสนุน
  2. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานต้องไม่เรียกหรือรับผลประโยชน์ใดๆ จากคู่ค้า ผู้รับจ้าง ผู้รับเหมา ผู้จัดส่งสินค้า ที่ปรึกษา หรือผู้ที่บริษัทติดต่อธุรกิจด้วย
  3. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานต้องไม่เสนอผลประโยชน์ใดๆ ต่อลูกค้า คู่ค้า เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือผู้ที่บริษัทติดต่อธุรกิจด้วย เพื่อการจูงใจให้ปฏิบัติงานในทางมิชอบ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
การป้องกันการฟอกเงิน
  1. บริษัทจะไม่รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สิน หรือสนับสนุนให้มีการรับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด
  2. บริษัทต้องเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลใดใช้ช่องทางธุรกิจที่กระทำกับบริษัทเพื่อการถ่ายเท ปกปิด หรืออำพรางแหล่งที่มาของทรัพย์สินที่มิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท และ/หรือผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ของบริษัทหรือไม่ก็ตาม
ของขวัญและการเลี้ยงรับรองทางธุรกิจ
  1. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานควรหลีกเลี่ยงการให้หรือรับของขวัญ ของกำนัลใดๆ ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน กับคู่ค้าของบริษัทหรือผู้ที่บริษัทติดต่อธุรกิจด้วย เว้นแต่ในเทศกาลหรือตามประเพณีนิยม ทั้งนี้ในมูลค่าที่เหมาะสม ซึ่งต้องไม่เกี่ยวข้องกับการมีข้อผูกมัดทางธุรกิจทั้งในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
  2. ในกรณีที่ไม่สามารถปฎิเสธและจะต้องรับของขวัญ พนักงานสามารถรับของขวัญซึ่งมีมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท หากของขวัญมีมูลค่าเกิน 3,000 บาท ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาและบันทึกรายการของขวัญลงใน แบบรายงานการรับค่าของขวัญ ค่าเลี้ยงรับรอง หรือผลประโยชน์อื่นใด ของบริษัท และนำส่งของขวัญดังกล่าวแก่บริษัทเพื่อนำไปเป็นของรางวัลให้แก่พนักงานในบริษัทหรือบริจาคเพื่อการกุศลตามความเหมาะสม
การให้ข้อมูลหรือการให้สัมภาษณ์ต่อสาธารณชน
  1. การให้ข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับบริษัท ต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง เป็นจริง ด้วยความระมัดระวัง โดยบุคคลที่ได้รับการมอบหมายให้กระทำการแทนบริษัท
  2. บริษัทมอบหมายให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นผู้มีอำนาจในการให้ข้อมูล หรือให้สัมภาษณ์ต่อสาธารณชน ได้แก่ ผู้ถือหุ้น นักลงทุน นักวิเคราะห์ สื่อมวลชนและบุคคลภายนอก และมีอำนาจในการมอบหมายให้ผู้บริหารระดับสูงท่านอื่นๆ สามารถให้ข้อมูลได้ตามที่เห็นสมควร
  3. ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมอบหมายให้เลขานุการบริษัทเป็นผู้ติดต่อสื่อสารกับผู้ถือหุ้น ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์เป็นผู้ทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารกับผู้ถือหุ้น ผู้จัดการกองทุน นักลงทุนนักวิเคราะห์ สถาบันการเงินและให้ฝ่ายสื่อสารองค์กรเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชน
การดูแลให้มีการปฏิบัติตามจริยธรรมธุรกิจ
  1. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนมีหน้าที่ต้องรับทราบและปฏิบัติตามจริยธรรมธุรกิจอย่างเคร่งครัด การปฏิบัติตามจริยธรรมธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลการปฏิบัติงานและค่าตอบแทนพนักงาน หากพบว่ามีการฝ่าฝืนหรือมีการกระทำใดๆ ที่ขัดต่อการปฏิบัติตามจริยธรรมธุรกิจ บริษัทจะบังคับดำเนินการพิจารณาลงโทษตามแต่ละกรณี
  2. ผู้บริหารและผู้บังคับบัญชาควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามจริยธรรมธุรกิจ รวมถึงควรช่วยส่งเสริม สร้างจิตสำนึกและการอบรมให้พนักงานยึดถือและปฏิบัติตามจริยธรรมธุรกิจ
  3. การรับข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับจริยธรรมธุรกิจ ให้เลขานุการบริษัททำหน้าที่รับข้อร้องเรียนด้านบรรษัทภิบาลและจริยธรรมธุรกิจ ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทสามารถส่งข้อร้องเรียนด้านบรรษัทภิบาลและจริยธรรมธุรกิจได้โดยตรง โดยมีรายละเอียด ดังนี้

    ฝ่ายเลขานุการบริษัท
    บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
    เลขที่ 979/12 ชั้นเอ็ม อาคารเอสเอ็มทาวเวอร์ ถนนพหลโยธิน
    แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
    อีเมล: CompanySecretary.TU@thaiunion.com

อนึ่ง บริษัทมีนโยบายคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส / ผู้ที่รายงาน โดยจะเก็บข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย รวมถึงการกระทำใดๆ ที่เป็นการตอบโต้หรือกระทำแก่ผู้แจ้งเบาะแสดังกล่าว

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2567

ดาวน์โหลด