นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น

“บริษัทได้รับการรับรองตามมติของคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต ครั้งที่ 4/2560 ให้เป็นสมาชิกของแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 และบริษัทได้รับการรับรองการต่ออายุเป็นสมาชิกของภาคเอกชนไทย เป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 และได้เข้าร่วมพิธีมอบประกาศนียบัตรไปเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564”

เจตนารมณ์ (Intent)

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า “บริษัท”) ไม่ยอมรับการคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ โดยครอบคลุมธุรกิจและรายการทั้งหมดในทุกประเทศและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ บริษัทได้จัดทำแนวปฏิบัติ และกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชั่นซึ่งมีรายละเอียดข้อปฎิบัติที่เคร่งครัด เพื่อป้องกัน และ/หรือจัดการกับการคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามนโยบายนี้ ทั้งนี้ บริษัทมีการสอบทานแนวปฏิบัติและขั้นตอนการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย ธุรกิจ และดำรงไว้ซึ่งการดำเนินธุรกิจบนฐานของความถูกต้องและเป็นธรรม โดยกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนต้องปฏิบัติตามนโยบายนี้โดยทั่วกัน และสื่อสารนโยบายนี้ไปยังผู้มีส่วนได้เสียภายนอกทราบ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชั่น

การกระทำใดๆ ของบุคลากรของบริษัท ที่เป็นการคอร์รัปชั่น ให้ถือเป็นความผิดขั้นร้ายแรงต่อระเบียบวินัยเกี่ยวกับเรื่องทั่วไป และให้ได้รับการพิจารณาโทษทางวินัย ตามระเบียบข้อบังคับในการทำงานของบริษัท

บริษัท จะให้ความคุ้มครอง ต่อกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงาน ที่ปฏิเสธการคอร์รัปชั่น เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น และแนวปฏิบัติเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชั่นนี้

นิยาม (Definition)

คอร์รัปชั่น หมายถึง

  1. ความประพฤติทั้งหลายที่ฝ่าฝืนหน้าที่ของตน โดยไม่สมควรกับตำแหน่งหน้าที่ของตนในฐานะพนักงาน ตัวแทน หรือฐานะความสัมพันธ์อื่นๆ ในบริษัท โดยมุ่งประสงค์ให้ได้รับประโยชน์ใดๆ โดยมิชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น หรือ
  2. การติดสินบน*แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ และการเรียกรับสินบน**จากคู่ค้าหรือผู้อื่น เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกิดการทำผิดกฎหมาย หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ หรือศีลธรรมอันดี และหมายความรวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับ และวิธีปฏิบัติงานของบริษัท หรือ
  3. การยักยอก*** เงินหรือสิ่งของ ของบริษัท ที่ได้รับมอบหมายให้ใช้ในงาน หรือการใช้เวลาการปฏิบัติงานของบริษัท มาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อกิจกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
* การติดสินบน หมายถึง การเสนอ การให้ หรือสัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์ ทั้งในรูปของเงิน สิ่งของ และสิ่งตอบแทนต่างๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกิดการทำผิดกฎหมาย หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ หรือศีลธรรมอันดี
** การเรียกรับสินบน หมายถึง การใช้อำนาจที่ได้มาโดยตำแหน่งหน้าที่ ทำการเรียกร้อง จูงใจ หรือข่มขู่ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ ทั้งในรูปของเงิน สิ่งของ และสิ่งตอบแทนต่างๆ เพื่อประโยชน์อันมิชอบ แห่งตนหรือผู้อื่น
*** การยักยอก หมายถึง การนำเงิน และสิ่งของ ที่ได้รับมอบหมายให้ใช้ในงาน หรือการใช้เวลาการปฏิบัติงานของบริษัท มาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน ผู้อื่น หรือเพื่อกิจกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
หน้าที่และความรับผิดชอบ (Role and Responsibility)
  1. คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ตรวจสอบและกำกับ ให้มั่นใจว่าการดำเนินธุรกิจมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปตามนโยบาย แนวปฏิบัติ และขั้นตอนการปฏิบัติ ด้านการต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยคณะกรรมการตรวจสอบทำหน้าที่กำกับดูแลการควบคุมภายในที่ครอบคลุมทั้งด้านการเงินและการดำเนินการ ของกระบวนการทางบัญชีและการเก็บบันทึกข้อมูล รวมถึงกระบวนการอื่นๆในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่น จัดให้มีช่องทางในการร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสการกระทำอันอาจนำสู่การคอร์รัปชั่น การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่น และรายงานผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการบริษัทอย่างสม่ำเสมอ
  2. ผู้บริหารมีหน้าที่นำนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นนี้ไปปฏิบัติ รวมทั้งสื่อสารนโยบายและสร้างความตระหนักแก่ผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยกำหนดให้มีระบบการบริหารจัดการและมาตรการที่เหมาะสมในการกำกับและส่งเสริมการดำเนินการ และทบทวนระบบและมาตรการการต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย และธุรกิจ
  3. ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับมีหน้าที่เฝ้าระวังและป้องกันความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชั่น ในงานที่รับมอบหมาย รวมทั้งแจ้งเบาะแส หากพบการกระทำอันส่อทุจริตหรือเสี่ยงต่อการคอร์รัปชั่น

ดาวน์โหลด